โซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรคืบ80%จ่ายไฟกลางปี64

ผู้ชมทั้งหมด 1,152 

กฟผ. เร่งเครื่องโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ล่าสุดคืบหน้ากว่า 80% มั่นใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ครบ 7 ชุดตามแผน พร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้กลางปี 64 ก่อนขยายเพิ่มให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ใน 9 เขื่อน

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. เร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 82.4%

อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมาได้ประกอบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรชุดแรกเสร็จแล้ว และจะเร่งดำเนินการติดตั้งให้ครบ 7 ชุด เพื่อเตรียมทดสอบระบบไฟฟ้าของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดและสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผนในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

พร้อมกันนี้กฟผ.จะเร่งดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของกฟผ.ให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ในจำนวน 9 เขื่อนรวม 16 โครงการ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018)

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีจะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือ Hydro-floating Solar Hybrid เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่ได้นำพลังงานหมุนเวียนสองประเภทจาก “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” มาผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน หรือเรียกว่า ระบบไฮบริด เพื่อลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่การผลิตไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดยพัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องยาวนาน และเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของกฟผ.ให้ครบ 2,725 เมกะวัตต์ในจำนวน 9 เขื่อนรวม 16 โครงการนั้นประกอบด้วย

1.เขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ปี 2563
2.เขื่อนอุบลรัตน์​ จำนวน 24 เมกะวัตต์ COD ปี  ปี 2566
3.เขื่อนภูมิพล เฟส1 จำนวน 158 เมกะวัตต์ COD ปี 2569
4.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส1 จำนวน 140 เมกะวัตต์ CODปี 2569
5.เขื่อนวชิราลงกรณ เฟส1 จำนวน 50 เมกะวัตต์ CODปี 2570
6.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส2 จำนวน 280 เมกะวัตต์ COD ปี 2572
7.เขื่อนภูมิพล เฟส2  จำนวน 300 เมกะวัตต์ COD ปี 2573
8.เขื่อนจุฬาภรณ์ จำนวน 40  เมกะวัตต์ COD ปี 2576
9.เขื่อนบางลาง จำนวน 78 เมกะวัตต์ COD ปี 2576
10. เขื่อนวชิราลงกรณ เฟส2 จำนวน 250 เมกะวัตต์ COD ปี 2574
11.เขื่อนศรีนครินทร์ เฟส 3 จำนวน 300 เมกะวัตต์ COD ปี 2575
12.เขื่อนภูมิพล เฟส 2 จำนวน 320  เมกะวัตต์ COD ปี 2576
13.เขื่อนรัชชประภา เฟส1 จำนวน 140 เมกะวัตต์ COD ปี 2577
14.เขื่อนสิริกิติ์ เฟส1 จำนวน 325เมกะวัตต์ COD ปี 2578
15. เขื่อนรัชชประภา เฟส2 จำนวน 100 เมกะวัตต์ COD ปี 2579
16.เขื่อนสิริกิติ์ เฟส2  จำนวน 175 เมกะวัตต์ COD ปี 2580