“โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” นวัตกรรมหนุน “EGAT Carbon Neutrality”

ผู้ชมทั้งหมด 1,795 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์เซลล์” แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ก็เป็นเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่นับวันจะมีบทบาทขึ้น เพราะตอบโจทย์ลดโลกร้อน และที่สำคัญต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลารเซลล์ในช่วงหลายปีที่ผ่ารมาถูกลงอย่างมาก และเกือบแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่รูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ก็พัฒนาขึ้นต่อเนื่องทั้งในรูปแบบของโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น

วันนี้ ประเทศไทยกำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่จัดหาและผลิตไฟฟ้าเพื่อดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไทย ได้จัดทำโครงการการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 นับเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี ซึ่งตอบโจทย์ทิศทางพลังงานแห่งอนาคต

และในช่วงต้นปี 2565 โครงการนี้ กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของคนไทย เมื่อ กฟผ. เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจ.อุบลราชธานี อีกด้วย

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ผลสำเร็จของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ทำให้ กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการต่อไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ อีกทั้ง ในอนาคต กฟผ.ยังมีแผนขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

“โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ขนาดกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หากขยายเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย

กฟผ. ยังได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีมาตรการหลักในด้าน Sources คือการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่จะเข้ามาในช่วงปลายแผน มาตรการหลักด้าน Sink คือ การปลูกป่าล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2031 ผนวกด้วยเทคโนโลยี CCUS ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2045 และมาตรการ Support จากโครงการด้าน Energy Efficiency และ BCG Economy ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 8 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อร่วมสร้างอนาคตปลอดคาร์บอนให้กับคนไทยทุกคน

แนวทางดังกล่าว ยังสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญกับเวทีประชาคมโลกในการลดภาวะโลกร้อน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

สำหรับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจุดเด่นจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่น เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิม มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสง หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ โดยนำระบบ EMS (Energy Management System) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน และในอนาคต กฟผ. ยังเตรียมสร้างศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน (RE Control Center) โดยจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้น นับเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าที่จะมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต