ไทยออยล์ กางแผนลงทุนธุรกิจใหม่ ทุ่ม 5,000 ล้านเหรียญ มุ่งสู่ New S-Curve

ผู้ชมทั้งหมด 1,439 

ปัจจุบันกลุ่มโรงกลั่น และปิโตรเคมิคอลเริ่มปรับตัวขยายลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ มุ่งไปสู่ New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีและ นวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพื่อรองรับการเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะก้าวไปสู้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้เริ่มขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP ระบุว่า การลงทุนในธุรกิจใหม่นั้นบริษัทได้เริ่มลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 ผ่าน บริษัท ท็อป เว็นเจอร์ จำกัด โดยลงทุนใน Start-Ups อย่างไรก็ตามการลงทุนในธุรกิจใหม่จะเริ่มเห็นการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงระหว่างปี 2569-2573 ภายใต้งบลงทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้าง New S-Curve ของไทยออยล์

เล็งลงทุนเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ Bio-Jet

ทั้งนี้การลงทุนในธุรกิจใหม่นั้น บริษัทฯ มีการวางแนวทางไว้ 2 รูปแบบ ในรูปแบบที่ 1 คือ Step Out Business โดยมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านการร่วมทุน (Joint Venture : JV) และการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ในธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสเติบโตสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นที่ธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นเมกะเทรนด์ 2 ด้าน

สำหรับการมุ่งเน้นที่ธุรกิจแห่งอนาคตที่เป็นเมกะเทรนด์ 2 ด้านนั้น ประกอบด้วย 1.Bio Technology หรือ ธุรกิจชีวภาพ เช่น โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio-Jet) โครงการชีวเคมี (Biochemicals) โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เพื่อต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ ไฮแวลูโปรดักต์

โดยการพัฒนาต่อยอดธุรกิจชีวภาพนั้นในส่วนการลงทุน Bio-Jet อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และเจรจากับกลุ่มมิตซุย โดยการลงทุนนั้นได้มีการศึกษาไว้ 2 รูปแบบ คือ การเข้าไปร่วมลบงทุนกับพันธมิตรในยุโรป และการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย คาดว่าปลายปี 2565 จะได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน และงบลงทุนในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ LAB (Linear Alkyl Benzene) เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตผงซักฟอกและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเช่นกัน    

ด้านที่ 2. New Energy and Mobility หรือ ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ การเดินทางการขนส่ง เช่น โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวความบริสุทธ์สูง (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage ; CCUS)

ลงทุนใน Start-Ups หนุนสัดส่วนรายได้ธุรกิจใหม่เพิ่ม

การลงทุนในรูปแบบที่ 2 คือ Corporate Venture Capital (CVC) นั้นไทยออยล์ได้จัดตั้งบริษัท ท็อป เว็นเจอร์ จำกัด (TOP Ventures) เพื่อร่วมลงทุนใน Start-Ups ที่น่าสนใจ โดยโฟกัสใน 3 กรอบธุรกิจ ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Technology) เทคโนโลยีด้านการทดแทนการใช้น้ำมัน (Hydrocarbon Disruption Technology) และเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมและการผลิต (Manufacturing Technology) ซึ่งปัจจุบันไทยออยล์ได้มีการลงทุนใน Start-Ups แล้ว 5 บริษัท

ประกอบด้วย 1.บริษัท UnaBiz ผู้ออกแบบและให้บริการครบวงจรสำหรับผลิตภัณฑ์ Internet of Things (loT) 2.บริษัท Versogen ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Anion Exchange Membrane (AEM) สำหรับการผลิต Green Hydrogen 3.บริษัท Ground Positioning Radar (GPR) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ 4.บริษัท Mineed ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Detachable & Dissolvable Microneedle) สำหรับการใช้งานด้านเครื่องสำอางและยา 5.บริษัท Everactive ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ใช้พลังงานต่ำไร้สายและแบตเตอรี่

รวมถึงได้เข้าลงทุนใน Venture Capital Funds จำนวน 3 กองทุน ได้แก่ Rhapsody Venture Partners (USA), Grove Venture (Israel) และ Alibaba Entrepreneurs Funds (HK/China) ขณะที่ในปี 2565 มีเป้าหมายที่จะลงทุนใน Start-Ups ผ่าน CVC เพิ่มเติมอีกประมาณ 3 บริษัท

ทั้งนี้ภายใต้เป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจของไทยออยล์ในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ประมาณ 10% จากธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% และ ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10% โดยมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยกลยุทธ์การกระจายการเติบโตไปยังธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรม

นายจีราวัฒน์ พัฒนสมสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจนวัตกรรม และดิจิทัล TOP กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็นการลงทุนใหญ่นั้น บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนโครงการผลิต Bio-Jet ซึ่งเป็นการนำเอาน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นส่วนผสมน้ำมันอากาศยาน โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้ในไตรมาส 4/2565 

ทั้งนี้ตนมองว่าความต้องการใช้ (Demand) น้ำมัน Bio-Jet จะเติบโตมากขึ้นนอนาคต หลังจากว่ากลุ่มประเทศในยุโรปเริ่มมีการผลิต Bio-Jet ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันอากาศยาน 3% แล้ว โดยในเบื้อต้นมีอากาศยานที่ใช้ Bio-Jet แล้วกว่า 4 แสนเที่ยวบิน ดังนั้นการลงทุน Bio-Jet จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยออยล์ที่จะลงทุน Bio-Jet รองรับความต้องการใช้ในอนาคต     

ส่วนแผนพัฒนาต่อยอดธุรกิจ Bioplastics และ Biochemicals นั้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตพลาสติกจากพืชที่สามารถย่อยสะลายในธรรมชาติได้ในระยะสั้น โดยปัจจุบันยังไม่มีใครลงทุน