ไทยออยล์ ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ

ผู้ชมทั้งหมด 503 

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ (6 – 10 มี.ค. 66)ราคาน้ำมันดิบคาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยคาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง กดดันต่อราคาน้ำมัน หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อสหรัฐฯ (PMI) เดือน ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.2 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.8 นับเป็นการยืนเหนือ 50 ครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาอัตราการว่างงานสหรัฐฯ (unemployment rate) เดือน ก.พ. 66 ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงระดับเดิมที่ 3.4-3.5% บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ยังคงร้อนแรงเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมอัตราเเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายแตะระดับ 5.25-5.50% ในการประชุม 3 ครั้งถัดไป เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจและควบคุมอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% กดดันต่อราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้แรงกดดันจากอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ก.พ. 66 ปรับเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 480.2 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดตั้งแต่ พ.ค. 65 และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเข้ากลั่นปรับลดลงราว 31,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของจีน (manufacturing PMI) เดือน ก.พ. 66 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.6 สูงสุดในรอบ 10 ปี และ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงระดับเดิมราว 2.1-2.2% จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในจีนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เมื่อเดือน ก.พ. 66 ที่ปรับความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 66 เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาเติบโตที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการเติบเติบโตจากจีนเป็นหลักราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน

ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันมีความเสี่ยงที่จะปรับลดลง หลังรัสเซียมีแผนลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 ราว 625,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ รัสเซียระงับการขนส่งน้ำมันผ่านท่อ Druzhba ไปยังโปแลนด์ หลังโปแลนด์ส่งมอบรถถังให้กับกองกำลังยูเครนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เหตุการณ์สะพานและดินถล่มหลังฝนตกหนักในเอกวาดอร์ในวันที่ 22 ก.พ. 66 ส่งผลให้ต้องหยุดการขนส่งน้ำมันดิบไปยังท่าเรือชั่วคราว และทำให้การส่งออกน้ำมันดิบลดลงราว 240,000-260,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ท่อดังกล่าวคาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติในเร็ววัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีกยูโรโซน (Retail sales) ในเดือน ก.พ. 66 และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ (Non-farm payrolls) ในเดือน ก.พ. 66