2 ปี ปิดตำนาน “ปั๊มเอสโซ่” ในไทย

ผู้ชมทั้งหมด 1,136 

บางจากฯ ยันทุนหนาเตรียมเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท รองรับปิดดีลซื้อกิจการ “เอสโซ่” ในไทย มั่นใจหลัง Synergy ช่วยประหยัด 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ลั่น ใช้เวลา 2 ปี เปลี่ยนโฉมปั๊มเอสโซ่ กว่า 700 สาขา สู่ปั๊มบางจากฯ ย้ำดีลนี้ไม่เป็นการผูกขาดธุรกิจ ยังคงมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 2

เริ่มต้นปีพุทธศักราช 2566 “ธุรกิจพลังงาน” ก็เปิดฉากรุกการแข่งขันตลาดน้ำมันร้อนแรง เมื่อ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศดีลใหญ่ “ผ่องถ่ายสินทรัพย์บริษัทพลังงานข้ามชาติมาเป็นของประเทศไทย” ด้วยเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 65.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“เอสโซ่”) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (“ExxonMobil”) โดยมีมูลค่ากิจการ 55,500 ล้านบาท คาดว่า จะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จอย่างเร็วช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้ หรือ อย่างช้า พ.ย.-ธ.ค.นี้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ดีลนี้ เกิดจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 4 ก่อน ทางทีมบริหารบางจากฯ ได้พูดคุยกันว่า ควรจะต้องมีโรงกลั่นฯแห่งที่ 2 และคงไม่ใช่การสร้างใหม่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง งบบานปลาย ไม่คุ้มค่า ดังนั้นจึงริเริ่มมองหาโรงกลั่นฯที่ดำเนินการอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีโรงกลั่นฯ เข้ามาพูดคุยหรือเสนอขายให้กับบางจากฯ มากกว่า 2 โรงกลั่น และ เอสโซ่ ก็เป็น 1 ใน 3 ที่มีการพูดคุย ซึ่งก็สามารถจบดีลกับเอสโซ่ได้ก่อน และดีลนี้ ใช้เวลาในการเจรจาร่วม 1 ปี ซึ่งก็เป็นอะไรที่สมเหตุสมผล เพราะทำให้มีสินทรัพย์ยุทธศาสตร์มาอยู่กับบางจากฯและประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นการผ่องถ่ายสินทรัพย์บริษัทพลังงานข้ามชาติมาเป็นของประเทศไทย

บางจากฯ มั่นใจว่า สถานการณ์เงินแข็งแกร่ง พร้อมรองรับการปิดดีลในครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบัน บางจากฯ มีกระแสเงินสดราว 40,000 ล้านบาท และยังมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่อนุมัติครอบคลุมดีลซื้อกิจการครั้งนี้ที่วงเงิน ราว 30,000 ล้านบาทแล้ว โดยดีลครั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินรวมทั้งหมดกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งบางจากฯ มีความพร้อมในการใช้เงิน ขณะเดียวกัน หลังเข้าซื้อกิจการแล้ว คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น(D/E) ของบางจากฯ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.6 เท่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่า แต่ไม่ถึง 2 เท่า ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบางจากฯ จะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น ยังต้องรอประเมินหลังปิดดีลซื้อกิจการเสร็จสิ้นในช่วงปลายไตรมาส4 หรือ ต้นปีหน้าอีกครั้ง

“เดิม บางจากฯ ตั้งเป้ากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)  แตะ 1 แสนล้านบาทในปี 2573 ซึ่งดีลซื้อกิจการเอสโซ่ ครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายดังกล่าว”

ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 บางจากฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ ExxonMobil แล้วขั้น ขั้นตอนต่อไป ยังต้องรอให้ทาง เอสโซ่ ดำเนินการขอแก้ไขสัญญาการขายโรงกลั่นระหว่าง เอสโซ่ ประเทศไทย กับ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ทำไว้เมื่อราว 15-20 ปีก่อน และภาระหนี้ก็จะถูกโอนไปยังกระทรวงพลังงาน ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนมีเจ้าของกิจการ ก็จะต้องดำเนินการขออนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐตามกระบวนก่อน

ขณะเดียวกัน ทางบางจาฯ ก็จะต้องนำเรื่องเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ภายในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ ก็คาดว่า จะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จอย่างเร็วช่วง ส.ค.-ก.ย.นี้ หรือ อย่างช้า พ.ย.-ธ.ค.นี้ จากนั้น ก็จะเจรจาซื้อขายหุ้นครั้งสุดท้ายต่อไป

สำหรับดีลครั้งนี้ บางจากฯ คาดหวังผลจากการ Synergy ร่วมกันกับ เอสโซ่ โดยคาดว่า จะเกิดการประหยัด ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี และบางจากฯ จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นจากการมี โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง ทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง สามารถดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น โดยขอย้ำว่า การซื้อกิจการของเอสโซ่ ครั้งนี้ จะไม่เป็นการผูกขาดธุรกิจ เพราะหากพิจารณาจากจำนวนปั๊มน้ำมันในประเทศไทย ที่มีอยู่ราว 20,000 แห่งทั่วประเทศนั้น บางจากฯ รวมกับเอสโซ่แล้ว ก็มีปั๊มในส่วนส่วน 7.5% เท่านั้น ขณะที่มาร์เก็ตแชร์ ก็อยู่ที่ราว 29.1% ยังเป็นเบอร์ 2 ของประเทศ

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การซื้อกิจการของเอสโซ่ ครั้งนี้ เป็นการซื้อสินทรัพย์ ไม่ใด้ซื้อยี่ห้อ ดังนั้นทาง ExxonMobil ยังคงเก็บยี่ห้อไว้ ฉะนั้น หลังปิดดีลซื้อกิจการเสร็จสิ้นแล้ว ปั๊มน้ำมันของเอสโซ่ จะทยอยเปลี่ยนมาเป็นปั๊มภายใต้แบรนด์ของ บางจาก ทั้งหมด โดยมีระยะเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เสร็จภายใน 2 ปี ขณะที่สูตรน้ำมันของปั๊มเอสโซ่ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นสูตรน้ำมันของบางจากฯทั้งหมด โดยขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น และมั่นใจในคุณภาพน้ำมันของบางจากฯ ที่มีมาตรฐานสูง ส่วนพนักงานของเอสโซ่ ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยังเป็นสัญญาจ้างเดิม

“แม้ว่า กระแสของรถEV จะเริ่มเข้ามา แต่ดูจากยอดขายรถในประเทศไทย ปีละ 8-9 แสนคัน เป็นรถEV บวกกับ ปลั๊กอินไฮบริด อยู่ที่ 2-3 หมื่นคันต่อปี ซึ่ง 90% ยังคงเป็นรถเติมน้ำมัน ยังไม่นับประชากรรถที่มีอยู่แล้ว ผมเข้าใจว่า ประเทศไทยมีประชากรรถอยู่ที่ 10 ล้านคัน ไม่รวมมอเตอร์ไซค์อีก 10 ล้านคัน ก็ 99.9% ยังเป็นน้ำมันอยู่ และถ้าดูในหลายๆประเทศน้ำมันเริ่มขาด ไม่มีใช้แล้วนะ และภาวะนี้คงจะตึงตัวไปอีกสักพัก ผมต้องเรียกว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยให้พวกเราเข้าถึงน้ำมันได้ในคุณภาพที่ดี และราคาที่สมเหตุผลได้มากขึ้น”