AOT ยันไม่ได้ลดสเปกคุณสมบัติวัสดุระบบไฟฟ้าก่อสร้างรันเวย์ที่ 3

ผู้ชมทั้งหมด 622 

1.  กรณีที่เอกชนผู้รับเหมาสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ทั้งวิศวกรและผู้รับเหมาออกมาเปิดเผยว่าถูกกดดันให้ลดสเปกวัสดุระบบไฟ แต่เอกชนไม่ยอมลดสเปกเพราะกลัวมีความผิด และอาจส่งผลต่อ  ความไม่ปลอดภัยผู้โดยสาร เรื่องนี้ส่อมีการทุจริตหรือไม่ ทราบเรื่องนี้หรือไม่ และได้มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีที่ปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้กล่าวหาว่า AOT ลดคุณสมบัติวัสดุของระบบไฟฟ้าสนามบิน โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ว่า AOT ได้ว่าจ้างบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ถนอมวงศ์บริการ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ความยาว 4,000 เมตร ทางขับขนาน ทางขับเชื่อมและทางขับ Perimeter Taxiway เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง ทสภ.ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตงาน (Terms of Reference : TOR) AOT ได้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุที่จะใช้ในโครงการ รวมถึงบัญชีรายชื่อวัสดุอุปกรณ์มาตรฐาน (Vendor List) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลและผ่านข้อกำหนดในการใช้งานไว้อย่างชัดเจนและรัดกุม โดยเมื่อถึงขั้นตอนการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน ผู้รับจ้างจะต้องนำเสนอวัสดุที่มีคุณสมบัติผ่านมาตรฐาน และอยู่ในรายการ Vendor List ตามที่กำหนดไว้ใน TOR และในสัญญาจ้างแก่ที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบินต่อไป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้รับจ้างยังไม่ได้ยื่นเสนอขออนุมัติระบบไฟฟ้าสนามบินดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากการดำเนินงานก่อสร้างยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งเป็นระบบฐานรากของทางวิ่งเส้นที่ 3 ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าสนามบิน โดยผู้รับจ้างวางแผนที่จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ระบบดังกล่าวประมาณกลางปี 2565

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาอนุมัติวัสดุของ AOT ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน โดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดของภาครัฐและความถูกต้องตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นสำคัญ ซึ่งการนำวัสดุที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตามข้อกำหนด และไม่อยู่ใน Vendor List มาใช้ เป็นการขัดต่อหลักการทำงานของ AOT ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงไม่มีความเป็นไปได้ที่ AOT จะดำเนินการตามที่เป็นข่าว

2.  เพราะลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) มาแล้ว เมื่อเอกชนไม่ยอมลดสเปกจึงถูกเปลี่ยนผู้รับเหมา

กรณีที่มีการพาดพิงเรื่องการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ ทชร.ว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั้น AOT ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าข้อพาดพิงดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากสัญญาก่อสร้างระบบทางขับขนานด้านทิศเหนือ และปรับปรุงทางขับท้ายหลุมจอด พร้อมทางขับ A และ B ทชร.ได้มีหนังสือแจ้งเริ่มงานเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันทางผู้รับจ้างยังอยู่ในช่วงการเตรียมงาน จึงยังไม่ได้มีการเสนอสเปกของระบบไฟฟ้าสนามบินให้ AOT อนุมัติแต่อย่างใด โดยการดำเนินการในส่วนนี้มีแผนจะติดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2565