AOT เล็งฮุบสนามบิน ทย. อีก 3 แห่ง “ตาก แม่สอด พิษณุโลก”

ผู้ชมทั้งหมด 639 

AOT เล็งบริหารสนามบิน ทย. อีก 3 แห่ง “ตาก แม่สอด พิษณุโลก” หวังปั้นเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศของภาคเหนือตอนล่าง ส่วนแผนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ 2 ภูเก็ต 2 เตรียมงบ 31 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำ EIA

แหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า จากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ AOT เข้าพัฒนาสนามบินของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นในขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขอรับสิทธิบริหารสนามบินของ ทย.เพิ่มเติมอีก จำนวน  3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานตาก แม่สอด และพิษณุโลก  เพื่อนำพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) เส้นทางการบินระหว่างประเทศในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของไทย

ทั้งนี้หาก AOT ได้รับสิทธิเข้าพัฒนาท่าอากาศยานเพิ่มอีก 3 แห่งจะส่งผลให้ AOT มีเกตเวย์อินเตอร์ครบทุกภาคของประเทศ  ภาคเหนือ คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และเชียงราย ภาคใต้ ท่าอากาศยานภูเก็ต และกระบี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะเป็นท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ซึ่งในส่วนของ ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ นั้น AOT เพิ่งได้รับสิทธิบริหารมาจาก ทย. ดังนั้นการได้รับสิทธิ์ในการบริหารท่าอากาศยานเพิ่มอีก 3 แห่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับ AOT และช่วยเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และการเดินทางระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ตแห่งที่2) เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดในอนาคตของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตว่า AOT ได้เตรียมใช้งบ 31 ล้านบาทจ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยแบ่งเป็นงบสำหรับศึกษาลงทุนท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2  วงเงิน 20 ล้านบาท และท่าอากาศยานพังงา (ภูเก็ตแห่งที่2) วงเงิน 11 ล้านบาท คาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาต้นปีนี้ และใช้เวลาศึกษาประมาณ 8 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถเสนอผลศึกษาให้คณะกรรมการ (บอร์ด ) AOT พิจารณาปลายปี 2565 ก่อนจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณาอนุมัติ เพื่อให้จัดจ้างออกแบบต่อไป

อย่างไรก็ตามการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานพังงา หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 นั้นต้องก่อนว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต มีปริมาณผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในการรองรับในปีใด โดยเฉพาะแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานพังงาต้องวิเคราะห์ว่าการเข้าบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ที่รับโอนมาจาก ทย. จะแบ่งเบาภาระความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ตในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหนจึงจะสรุปได้ว่าจะเริ่มก่อสร้างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งเมื่อไหร่ ซึ่งในมุมมองส่วนตัวคาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 ปีถึงจะเริ่มมีการก่อสร้าง

อนึ่งสำหรับผลการศึกษาเดิมในการพัฒนาท่าอากาศยานพังงาจะใช้ งบลงทุน 100,515 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบลงทุนเฟสที่1 วงเงินลงทุน 95,413 ล้านบาท และเฟสที่ 2  วงเงินลงทุน 5,084 ล้านบาท ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ศึกษาไว้ 2รูปแบบ คือ 1.พัฒนาบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) วงเงินลงทุน 42,430 ล้านบาท และ2.พัฒนาครอบคลุมเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ทุกประเภท (all commercial flight) วงเงินลงทุน 68,677 ล้านบาท แบ่งเป็นเฟสที่1 วงเงินลงทุน 64,805 ล้านบาท และเฟสที่ 2 วงเงินลงทุน 3,872 ล้านบาท