AOT แจงการจัดจ้างระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระทสภ.มีความโปร่งใส

ผู้ชมทั้งหมด 906 

AOT แจงการจัดจ้างระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยันการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกงานโครงการจัดจ้างเอกชนปฏิบัติการฯ มีความโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สื่อมวลชนบางแห่งนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับโครงการจัดจ้างเอกชนปฏิบัติการและซ่อมบำรุงรักษา ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระภายในอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal Building : MTB) และระบบลำเลียง กระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบินภายในอาคารปฏิบัติการกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน (Transfer Baggage Terminal : TBT) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยมีการกล่าวหาว่า กรมบัญชีกลาง ได้วินิจฉัยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ ทอท.ยังขัดข้อวินิจฉัยของกรมบัญชีกลาง โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

ทอท.ในฐานะผู้บริหาร ทสภ.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จากหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ กค (กอร) 04055/38127 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท แดน-ไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องเรียนกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ

สำนักงานอัยการสูงสุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ในประเด็นที่ 1 ถึง 4 ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในรายละเอียดขอบเขตของงาน

ประเด็นที่ 7 เอกสารใน BOQ และรายละเอียดขอบเขตของงานไม่ตรงกับข้อกำหนด ประเด็นที่ 9 ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการให้คะแนนต่อข้อเสนอด้านเทคนิคในส่วนที่เป็นรายละเอียดด้านต่างๆ ฟังไม่ขึ้น ขณะที่ประเด็นที่ 5 เงื่อนไขการจัดหาพนักงานเพื่อเริ่มดำเนินงาน และประเด็นที่ 6 ข้อกำหนดกรอบเวลาระหว่างผู้เสนอราคาและบริษัทผู้ผลิต นั้น ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไม่ได้ และประเด็นที่ 8 เอกสารคุณสมบัติตำแหน่งหัวหน้าวิศวกรเครื่องกลภายในอาคาร ไม่ถือเป็นการอุทธรณ์ ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ทอท.จึงสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

นอกจากนี้ โครงการจัดจ้างเอกชนปฏิบัติการฯ ทอท.ยังมีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจนแล้ว ตามประกาศ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วตามลำดับและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งวิธีการคัดเลือกดังกล่าวถูกนำไปใช้อยู่ในโครงการภาครัฐอย่างแพร่หลาย ทอท.ขอยืนยันว่าการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกงานโครงการจัดจ้างเอกชนปฏิบัติการฯ มีความโปร่งใสและผ่านการวินิจฉัยจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ของภาครัฐตามกระบวนการอย่างครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้