BANPU มั่นใจ ผลงานครึ่งหลังปี65 โตกว่าครึ่งปีแรก

ผู้ชมทั้งหมด 532 

“บ้านปู” คาดครึ่งหลังปี65 ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง รับกำลังการผลิตถ่านหิน ก๊าซฯ เพิ่มขึ้น ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า ลุ้นปิดดีล M&A ในสหรัฐ และเวียดนาม เพิ่มในปีนี้ มั่นใจ กลยุทธ์ Greener & Smarter ดันเพิ่มสัดส่วน EBITDA แตะ50% ในปี 2568 เตรียมงบ 3-4 พันล้านดอลลาร์ ลุยขายการลงทุน 5 ปี

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินงานบ้านปู ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ด้านพลังงานที่ยังดีต่อเนื่อง โดยในส่วนของธุรกิจถ่านหิน หากดูจาสภาพอากาศในช่วง 2-3 เดือนนี้ยังดี แต่ไตรมาส 4 อาจมีฝนเพิ่ม แต่การนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มกำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนราคาถ่านหินยังยากที่จะประเมินแต่มองว่า น่าจะยังส่งผลบวก

ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่า กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นหลังจากการเข้าซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ และครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตรวมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู เพิ่มเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน และรับรู้รายได้เต็มที่ในไตรมาส 3 ขณะที่ราคาก๊าซฯยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าต้นทุนจะปรับเพิ่มขึ้นแต่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ในส่วนของตลาดสัญญาซื้อขายระยะยาว(PPA) ยังมีรายได้ที่แน่นอน แต่ในส่วนของตลาดเสรี หากดูย้อนไป 7-8 เดือนที่ผ่านมามีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ฉะนั้นตลาดนี้ยังมีลุ้นส่วนเพิ่มในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อีกทั้ง ในส่วนของการปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซฯขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ประมาณ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในเวียดนาม ที่เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ปริมาณ 65 เมกะวัตต์ จะปิดดีลในไตรมาส 3ปีนี้ และยังมีที่อยู่ระหว่างการศึกษาอีก  2-3 โครงการ ก็ยังมีลุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย

สำหรับงบลงทุนช่วง 5 ปีข้างหน้าของบริษัท คาดว่า จะใช้เงินอยู่ที่ระดับ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการเติบโตตามแผนที่จะมุ่งเน้นภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter เป็นหลัก ส่วนธุรกิจดังเดิม เช่น ถ่านหิน ก็ยังเติบโตต่อไปได้ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งโครงการในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน แต่จะไม่ใช่ลักษณะของการซื้อกิจการใหม่ โดยบริษัท ยังตั้งเป้าหมายว่า ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter จะช่วยเพิ่มสัดส่วน กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) เป็น 50% ภายในปี 2568 ส่วนธุรกิจดั้งเดิมจะมีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ ผลการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ของบริษัท ยังเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้วยังเป็นผลจากการเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานแบบก้าวกระโดดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ มีการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติและธุรกิจกลางน้ำที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ทั้งยังได้ลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Sequestration: CCS) ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ในรัฐเท็กซัส ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญสู่การยกระดับความยั่งยืนในกระบวนการผลิตภายใต้หลัก ESG ที่เรายึดถือมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตฟอลิโอทางธุรกิจและสร้าง New S-Curve โดยเริ่มจากการลงทุนในกองทุนด้านเฮลธ์แคร์ นับเป็นการเปิดมิติใหม่สู่ธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้คน (Life-Betterment)

โดยกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง มีผลประกอบการแข็งแกร่งจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะที่อุปทานตึงตัว นอกจากนี้การเข้าซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ และครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตรวมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู เพิ่มเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน 

ส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และน็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมการเดินเครื่อง (Pre-commissioning) เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เมื่อมีการเรียกกระแสไฟฟ้าจากผู้รับซื้อไฟ (EVN)

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) เร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง โครงการที่สำคัญในครึ่งปีแรก ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตรกับดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก และเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับ e-Bus ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 พร้อมบุกตลาดรถอีวีในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งมีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านบริษัทย่อยของบ้านปู ในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์ รวม 7.27 เมกะวัตต์