BCPG ฉวยวิกฤตแบงก์ล้ม จ่อซื้อ รฟ.ก๊าซฯ-พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 578 

BCPG ลั่นปี 2566 ตั้งงบลงทุน 3.9 หมื่นล้านบาท มุ่งรองรับขยายการลงทุนใหม่ ดัน EBITDA โต 20% ชี้วิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐ เป็นโอกาสเข้าซื้อของถูกในกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียน แย้มอยู่ระหว่างศึกษาในหลายโครงการ พร้อมทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนลดผลกระทบค่าเงินผันผวน    

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยในงาน Oppday Year End 2022 บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) BCPG เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 โดยระบุว่า ในปี2566 บริษัท ได้ตั้งเป้าหมายจะมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา(EBITDA) เติบโตขึ้น 20% จากปี 2565 โดยในจำนวนนี้จะมาจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทย 34% ญี่ปุ่น อยู่ที่ 15% ลาว 17% การลงทุนใหม่ 34% และอื่นๆ 0.3%

โดยได้จัดเตรียมงบลงทุนในปีนี้ อยู่ที่ 39,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การลงทุนใหม่ 77% โดยเฉพาะการเข้าลงทุนในสหรัฐ  และอีก 23% เป็นการลงทุนที่มีอยู่แล้ว

“การลงทุนในสหรัฐ ภายใต้งบ 20,000 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Carroll County Energy LLC (CCE) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 700 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ South Field Energy LLC (SFE) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,182 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้น ก่อนที่สหรัฐจะมีวิกฤตแบงก์ล้ม และในช่วงนั้นประเทศไทย ก็มีเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ และบริษัทก็ได้ยื่นเสนอโครงการซึ่งก็มีผ่านเกณฑ์คัดเลือกในเบื้องต้นและรอประกาศผลที่ชัดเจน แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาก็มุ่งการลงทุนในสหรัฐ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสหรัฐฯจะมีวิกฤติสถาบันการเงินที่เป็นปัจจัยเสี่ยง แต่บริษัทมองว่าในวิกฤติก็เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการขายกิจการในมูลค่าที่ถูกลงออกมา และปัจจุบัน บริษัทก็ได้ทำการศึกษาในหลายโครงการทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็มั่นใจว่า การขยายการลงทุนในสหรัฐฯจะมีโอกาสปิดดีลได้เพิ่มเติม ตามงบที่ตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยความเสี่ยงความผันผวนของค่าเงินบาทนั้น ในส่วนของบริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินบาท และมีสกุลต่างประเทศไม่มากนัก ดังนั้นการอ่อนค่า หรือ แข็งค่าของเงินบาท จึงยังมีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรับมือไว้ด้วยแล้ว

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน บริษัทเริ่มมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว ซึ่งเป็นคาร์บอนที่บริษัทผลิตได้เองทุกปีทั้งจากโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ และปัจจุบันอยู่ระหว่างร่วมมือกับกลุ่มบางจาก จัดทำแพลตฟอร์มศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับการซื้อ-ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ