BEM-กทพ.-กรุงไทย เปิดระบบ EMV ชำระค่าทางด่วน

ผู้ชมทั้งหมด 914 

BEM-กทพ.-กรุงไทย เปิดใช้ระบบ EMV ชำระค่าผ่านทางด่วน เริ่มนำร่อง 5 สายทาง ไตรมาส 1/65 เปิดอีก 2 สายทาง “ฉลองรัช-บูรพาวิถี” ส่งเสริมสังคมไร้เงินสด พร้อมเร่งเดินหน้าติดตั้งระบบ M-Flow ให้ครบทุกด่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13  ธันวาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ที่บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) สะพานพระราม 7 ทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทางพิเศษ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียวแตะ – จ่ายได้ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless เดินทางสะดวก แก้ไขปัญหาจราจร เลี่ยงการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานเตรียมรองรับสถานการณ์และปรับตัวในรูปแบบ New Normal เพี่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

“EMV เป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าผ่านทาง ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายโดยมีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ลดการใช้ และลดการสัมผัสเงินสด ช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19”

ทั้งนี้ความร่วมมือกันระหว่างกทพ. ธนาคารกรุงไทย และ BEM พัฒนาเทคโนโลยีระบบชำระค่าผ่านทาง EMV เพื่อนำไปสู่ระบบชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow และตนยังได้ขอให้ BEM พิจารณาต่อยอดระบบดังกล่าวมาใช้กับระบบตั๋วร่วมของรัฐบาล หรือใช้กับระบบชำระค่าธรรมเนียมในระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น อาทิ รถไฟฟ้า MRT รถเมล์ และรถไฟ

อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางนั้นกระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายให้กทพ.และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการติดตั้งระบบชำระค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควรที่ระบบ M-Flow จะใช้ครบทุกด่านหรือทุกสายทาง 100% อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นในระยะแรกจะใช้ควบคู่ได้กับระบบ EMV โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV ทางด่วนแล้ว 5 สายทาง สามารถทดแทนช่องเก็บเงินสดได้ประมาณ 30%

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสดจะใช้เวลาประมาณ 9 วินาที ขณะที่จ่ายด้วยบัตร EMV ใช้เวลาประมาณ 5 วินาที ช่วยลดปัญหารถติดหน้าด่านได้ ปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการ 5 สายทางแล้ว ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน – ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการชำระค่าผ่านทางด้วยเงินสด ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการทางพิเศษ ซึ่งจากที่ผ่านมาในช่วงเปิดทดลองใช้มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ 6,000 คัน และในไตรมาส 1/2565 จะเปิดให้ใช้บริการอีก 2 สายทาง ได้แก่ ทางด่วนบูรพาวิถี และทางด่วนฉลองรัช ก็จะครบ 7 สายทาง

สำหรับระบบการชำระเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture) หรือ EDC ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่อง โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่าระบบดังกล่าวมีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. จะเปิดให้ใช้ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือวงแหวนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2 ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยขณะนี้จากการเปิดให้ลงทะเบียนใช้ระบบดังกล่าว มีคนลงทะเบียนแล้วประมาณ 24,000 คน จากที่เปิดให้ลงทะเบียนได้ 100,000 สิทธิ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้รถยนต์มาลงทะเบียนใช้ระบบ M-Flow กรมทางหลวงได้จัดโปรโมชันสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิ์วิ่งฟรี 2 เที่ยว และได้รับส่วนลด 20% เป็นเวลา 3 เดือน โดยสิทธิ์ดังกล่าวจะทำให้กรมทางหลวงสูญเสียรายได้ประมาณเดือนละ 15 ล้านบาท