BGRIM ปลายปี 65 ถึงกลางปี 66 จ่ายไฟฟ้า เพิ่ม 7 โครงการ 935 MW พร้อมชิงเค้กพลังงานหมุนเวียน 5,203 MW

ผู้ชมทั้งหมด 359 

BGRIM ปลายปี 65 ถึงกลางปี 66 จ่ายไฟฟ้า เพิ่ม 7 โครงการรวมกำลังการผลิต 935 เมกะวัตต์ มั่นใจปีนี้มีกำลังการผลิตใหม่ตามเป้า 1,000 เมกะวัตต์ แย้มร่วมยื่นชิงเค้กพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ในไทย

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด (บริษัทถือหุ้น 50.7%) เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 (ABP1R) กำลังการผลิตติดตั้ง 140 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี ส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม (SPP Replacement) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และลดปริมาณการใช้ก๊าซฯต่อหน่วยลง  ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement อีก 3 โครงการ (ABP2R และ BGPM1&2R) กำลังการผลิตรวม 420 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า SPP ใหม่อีก 2 โครงการ (BGPAT2 และ BGPAT3) กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ กำหนด COD ในปี 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน) อู่ตะเภา เฟสแรก  95 เมกะวัตต์ มีกำหนดการ COD ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566

ด้าน นางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี BGRIM กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการ LNG to Power ที่เวียดนาม ยังรอทางรัฐบาลเวียดนามประกาศแผน PDP ฉบับที่ 8 ออกมาก่อน หลังจากดีเลย์ออกไป เนื่องจากราคา LNG ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในต้นปี 2566

สำหรับแผนขยายกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นนั้นภายในปีนี้คาดว่าจะเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เป็นไปตามแผน ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทลงทุนถือหุ้น 49% ใน Lohas ECE Spain Gifu Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม กําลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีโครงการใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะปิดดีลเร็วๆนี้ได้ประมาณ 100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการศึกษาอีกประมาณ 300-400 เมกะวัตต์

ส่วนแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยนั้นล่าสุดบริษัทได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ากับทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery storage) ซึ่งต้องรอประกาศผลจากทาง กกพ. ต่อไป

นอกจากนี้แผนการเติบโตของบริษัท มีความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและการรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการบริหารจัดการทางการเงินที่เหมาะสมในส่วนของหนี้สินและส่วนทุน ควบคู่ไปกับการเติบโตสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

ส่วนความคืบหน้าแผนนำเข้า LNG บริษัทได้เลื่อนออกไปก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2566 เนื่องจากราคา LNG ในตลาดโลกยังอยู่ระดับสูง ขณะที่ต้นทุนราคาก๊าซฯที่ปรับสูงขึ้น บริษัทพยายามปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้รัฐบาล ซึ่งตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ช่วยเหลือค่าก๊าซฯในบางส่วนด้วย