BPPเตรียมงบ200-300ล้านเหรียญฯปิดดีลโครงการใหญ่

ผู้ชมทั้งหมด 1,290 

BPP ปีนี้คาดใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐลุยซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ และพลังงานทดแทน หวังครึ่งแรก 64 ปิดดีลโครงการใหญ่อย่างน้อย 1 โครงการ พร้อมขยายลงทุนธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในออสเตรเลียสหรัฐฯ

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทได้มองหาโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเข้ามาเพิ่ม ทั้งที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักอย่างเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยจะเน้นการลงทุนในรูปแบบซื้อกิจการ (M&A) และรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และจะเน้นลงทุนในโครงการที่เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) หรือ โครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) ซึ่งหากมีการปิดดีลโครงการใหม่รวมถึงการลงทุนในโครงการต่อเนื่องนั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ในปัจจุบัน BPP อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโครการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่มีการใช้เทคโนโลยี High Efficiency, Low Emissions (HELE) ในสหรัฐอเมริกา รัฐเพนซิลเวเนียอยู่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นการขยายการลงทุนตามการลงทุนของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่ได้ลงทุนในธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ อยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายโครงการที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี HELE ในหลายประเทศตามฐานการลงทุนเดิมของบ้านปู โดยคาดว่าภายในครึ่งปีแรก 2564 จะมีความชัดเจนแผนการลงทุน หรือปิดดีลได้อย่างน้อย 1 โครงการ

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม และแสงอาทิตย์ ก็มองโอกาสขยายการลงทุนใหม่ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทั้งลงทุนในรูปแบบซื้อกิจการโครงการ Brownfield และลงทุนในรูปแบบ Greenfield ซึ่งการซื้อกิจการนั้นก็อยู่ระหว่างเจรจาหลายโครงการขนาดกำลังการผลิตรวมมากกว่า 200 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าจะปิดดีลในปีนี้ราว 100-200 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงการใหม่จะพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนการลงทุน ราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยี และเน้นการลงทุนในประเทศที่มีฐานการลงทุนเดิมอยู่แล้ว

ขณะที่ปัจจุบัน BPP มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,856 เมกะวัตต์ โดยในปี 2564 นั้นเตรียม COD โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 2 โครงการกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการชิราคาวะ 10 เมกะวัตต์ และโครงการเคเซนนุมะ 20 เมกะวัตต์ COD ในช่วงไตรมาส 4/2564 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ COD ในไตรมาส 1/2564 และโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ COD ในไตรมาส 1/2564 

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในขบวนการเข้าซื้อกิจการคาดแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2564 จะส่งผลให้รับรู้เป็นรายได้ทันทีเพราะเป็นโครงการที่ COD แล้ว อย่างไรก็ตามการลงทุนซื้อกิจการและการ COD ไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มในปีนี้จะเป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ BPP มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5,300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนของพลังงานสะอาด 800 เมกะวัตต์ในปี 2568

ส่วนธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในปัจจุบันที่ได้ลงทุนในประเทศญี่ปุ่นและมีการซื้อขายไฟฟ้ากว่า 280 เมกะวัตต์ โดย 5 ปีวางเป้าหมายเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งนอกจากขยายการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นแล้วยังมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศ ประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐฯ อีกด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้เปิดโอกาสให้สามารถซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนด้วย