CKP หวังโครงการ”โรงไฟฟ้าหลวงพระบาง”ชัดเจนสิ้นปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 1,029 

“ซีเค พาวเวอร์” หวังโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง มีความชัดเจนทั้งเรื่องสัญญาสัมปทาน และลงนามซื้อขายไฟฟ้าได้ในช่วงปลายปีนี้ มั่นใจรายได้โตเข้าเป้า 10-20% เหตุผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีหนุน เตรียมออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท ในเดือน ต.ค.นี้

นางมัณทนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยในงาน Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 ว่า ความคืบหน้าการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง (LPHPP) ปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการในทุกด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ซึ่งในส่วนของพันธมิตรร่วมลงทุนก็ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน แต่โดยหลักยังคงเป็นกลุ่ม ช.การช่าง,รัฐบาลลาว และรัฐบาลเวียดนาม  โดยเงินลงทุนในโครงการนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ราว 150,000-160,000 ล้านบาท

“โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง อยู่ระหว่างเจรจาสัญญาสัมปทาน และเจรจาลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับฝ่ายไทยและลาว ซึ่งที่ผ่านมาติดปัญหาโควิด-19 ทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็คาดว่า ปลายปีนี้จะมีความชัดเจนทั้งเรื่องของสัมปทานและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้”

ส่วนโอกาสขยายการลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัท ให้ความสำคัญกับพลังงานโซลาร์เซลล์ และในรูปแบบของ Private PPA ซึ่งก็อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเข้าลงทุนที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อบริษัททั้งในหลายรูปแบบการเข้าลงทุน

นายธิติพัฒน์ นานานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ CKP กล่าวว่า บริษัท คาดว่า แนวโน้มรายได้ในปีนี้จะเติบโตราว 10-20% จากปีก่อน และใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นปีว่าจะเติบโตราว 10-15% เนื่องจากในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีผลการดำเนินงานสูงสุด ทำให้ครึ่งปีหลังรายได้จากการขายไฟฟ้าจะดีกว่าครึ่งปีแรก และสนับสนุนผลการดำเนินงานทั้งปีนี้ให้เติบโตจากปีก่อน แต่จะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่(นิวไฮ) ได้หรือไม่ ยังต้องรอลุ้นปริมาณในช่วงปลายปีนี้

สำหรับงบลงทุนในปีนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนราว 4,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งหากปีนี้ใช้ไม่ทันก็จะนำไปร่วมในงบลงทุนปีหน้า ทำให้คาดว่าช่วงปี 2564-2565 จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ระดับดังกล่าว

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะจะเป็นผลดีต่อ 2 โรงไฟฟ้าในลาว คือ โรงไฟฟ้าน้ำงึม และไซยะบุรี ที่มีรายได้เป็นสกุลดอลลาร์ แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ก็มีเงินกู้เป็นสกุลดอลลาร์ก็อาจได้รับผลกระทบในส่วนนี้บ้าง แต่โดยรวมแล้วในส่วนของรายได้จะได้รับประโยชน์มากกว่า

นายธรรมขจร นันทพงษ์ นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ CKP กล่าวว่า ในเดือน ต.ค.นี้ บริษัท เตรียมออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อหุ้นเพิ่มเติมสัดส่วน 5% ในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในลาว จำนวนประมาณ 1,826.55 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มดังกล่าว จะทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นใน XPCL เพิ่มขึ้นเป็น 42.50% และคาดว่าการถือหุ้นในระดับนี้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว

ส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัท เนื่องจากบริษัทได้จัดเตรียมแผนเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) สำหรับรองรับต่อสถานการณ์และเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทไว้อย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม บริษัท ยังเดินหน้าขยายการลงทุนตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 หรือเติบโตขึ้นเฉลี่ย 10-20% ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง อยู่ที่ 2,167 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าหมายจะมี EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 40-50%