EAปีนี้เก็บดอกออกผลธุรกิจ EV หนุนรายได้โต20%

ผู้ชมทั้งหมด 1,098 

EA ชูธุรกิจ EV จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้เติบโต โดยเริ่มเก็บดอกออกผลตั้งปี 64 คาดดันรายได้รวมเติบโต 20% พร้อมทอยส่งมอบรถบัสไฟฟ้า 400-500 คันในไตรมาส1/64 ขณะที่เรือยนต์ไฟฟ้าส่งมอบครบ 27 ลำเดือน มี.ค.นี้ เล็งประกอบรถเมล์ไฟฟ้าป้อนขสมก.ส่วนธุรกิจไฟฟ้ายังหาดีลทำกำไรงามพร้อมรุกขายไฟแบบ Private PPA

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ในปี 64 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตที่ 20% เนื่องจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เริ่มมีรายได้เข้ามาในปีนี้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสัญญาคำสั่งซื้อรถบัสไฟฟ้าราว 400-500 คันคาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในช่วงปลายไตรมาส 1/64 หลังจากที่โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเริ่มดำเนินการประกอบได้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า “MINE Smart Ferry” คาดว่าจะส่งมอบครบ 27 ลำในช่วงปลายเดือน มี.ค. 64 จากปัจจุบันส่งมอบไปแล้ว 3 ลำที่อยู่ระหว่างเปิดทดลองให้บริการประชาชนฟรีตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 63 ถึง 14 ก.พ. 64 จากนั้นจะเริ่มเก็บค่าบริการ โดยปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติค่าโดยสาร คาดว่าจะเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาท โดยให้บริการวิ่งจากท่าเรือพระราม 5 – ท่าเรือสาทร

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังให้ความสนใจที่จะผลิตรถเมล์ไฟฟ้า ป้อนให้กับผู้ที่เข้าร่วมประมูลรถเมล์ไฟฟ้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2,500 คันด้วย ซึ่งตนก็ได้ติดตามความคืบหน้าแผนงานของ ขสมก. เช่นกัน โดยตามที่ทราบข่าวนั้นคาดว่าแผนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าของขสมก.จะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในปีนี้ ส่วนการประกอบรถแท็กซี่ไฟฟ้า แบรนด์ MINE Mobility ให้กับสหกรณ์สุวรรณภูมิราว 3,500 คันนั้นต้องชะลอแผนออกไป เนื่องจากกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถหารายได้จากการให้บริการผู้โดยสารได้ แต่บริษัทฯจะเจาะกลุ่มเป้าหมายรถขนส่งสาธารณะ รถขนส่งของ และกลุ่มผู้ใช้รถบัส มากขึ้น

ส่วนความคืบหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระยะแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/ 64 ช่วยขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจ จากการนำแบตเตอรี่มาใช้ในการผลิตทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า ส่วนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ให้เต็มกำลังที่ 50 GWh นั้น ยังต้องรอดูนโยบายของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้รถยนต์ EV มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีความชัดเจนมากขึ้นก็จะมองโอกาสการขยายต่อไป แต่หากตลาดเติบโตช้าการขยายก็อาจจะขยายไม่มากนัก ขณะกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GWh จะใช้รองรับสำหรับการผลิตธุรกิจของบริษัทเท่านั้น และความคืบหน้าการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ EV ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 400 สถานี 1,600 หัวจ่าย คาดว่าจะลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ EV ให้ได้ตามแผน 1 พันแห่งภายในปีนี้

สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ การขยายการลงทุนนั้นจะเน้นซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งการลงทุนก็ต้องพิจารณาอย่างระเอียดรอบคอบ และต้องเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่บริษัทยอมรับได้ ส่วนโครงการใหม่ในประเทศไทยก็มีแต่โครงการขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อเพลิงขยะ ไบโอแมส ไบโอแก๊ส บริษัทยังไม่มีความสนใจ

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว 2 โครงการที่ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับพันธมิตรนั้น คาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาศึกษา 2-3 ปี หลังจากนั้นต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และใช้เวลาสร้างเขื่อนนับ 7 ปี ซึ่งคาดว่าน่าจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้ อย่างไรก็ตามธุรกิจไฟฟ้านั้นก็มีแผนเจาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โดยลงทุนในรูปแบบซื้อขายไฟฟ้าและบริหารจัดการไฟฟ้าให้กับลูกค้าโดยตรง หรือ เป็นรูปแบบ Private PPA เพิ่มเติมจากที่ได้ลงทุนให้กับลูกค้าไปแล้วประมาณ 23 เมกะวัตต์  

ธุรกิจไบโอดีเซล ก็ไม่ได้มองการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม เพราะตลาดคงไม่ได้เติบโตมาก และกำลังการผลิตในประเทศยังคงสูงกว่าความต้องการใช้ ประกอบกับไม่ใช่ธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง ดังนั้น ธุรกิจนี้ก็จะมองการต่อยอดไปยังธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงอย่าง  Bio Green Diesel ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์ และ  Bio PCM ที่เป็นสารควบคุมความแตกต่างของอุณหภูมิซึ่งจะช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงาน ซึ่ง Bio PCM นั้นใสนปีนี้ก็จะขยายตลาดไปยังประเทศเกาหลีใต้ จีน เพิ่มเติมจากปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก Bio PCM มาร์จิ้นสูง ซึ่งในอนาคตจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่หนุนรายได้เติบโต

อย่างไรก็ตามจากที่มีรายได้ในส่วนของธุรกิจ EV เข้ามาจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทในปีนี้จะปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า 60% ก็จะเหลือ 50% , ธุรกิจไบโอดีเซล (B100) จากดิม 40-45% ก็จะเหลือ 30-35% และที่เหลือ 10-20% มาจากธุรกิจ EV ซึ่งในอนาคตธุรกิจ EV จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นใกล้เคียงกับธุรกิจหลักในปัจจุบัน เพราะบริษัทฯ จะเน้นขยายการลงทุนธุรกิจ EV เพิ่มมากขึ้น

สำหรับแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ 2.2-2.3 พันไร่ ในจ.ฉะเชิงเทรานั้น ยังอยู่ในกระบวนการดำเนินการงาน ที่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์อีกรอบ และยังต้องรอการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 65 โดยนิคมฯจะเน้นรองรับอุตสาหกรรมไฮเทค อย่างไรก็ตามในส่วนโรงงานแบตเตอรี่ และโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในพื้นที่นิคมฯ เพราะต้องการให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก่อน เพราะหากรอการจัดตั้งนิคมฯก็อาจจะทำให้มีความล่าช้า

สำหรับงบลงทุนในปี 64 ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำประมาณการเงินลงทุนของปีนี้อยู่ แต่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงทุนโครงการใหญ่ต่อเนื่องจากปีก่อนสำหรับการลงทุนในโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งยังเหลือเงินลงทุนต่อเนื่องอยู่ราว 3,700 ล้านบาทอย่างไรก็ตามหากมีการทำ M&A บริษัทก็มีศักยภาพที่จะจัดหาเงินลงทุนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เกือบ 2 เท่า และมีกระแสเงินสดในมือไม่ต่ำกว่า 4-5 พันล้านบาท