EAยันไม่ทิ้งธุรกิจไฟฟ้า-Q2ส่งมอบรถEVหนุนผลงานแจ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 1,412 

EA ยันไม่ทิ้งธุรกิจไฟฟ้าระบุยังมีข้อเสนอขายโรงไฟฟ้าให้พิจารณาหลายโครงการ พร้อมเดินเครื่องโรงงานแบตเตอรี่ ก.ค.นี้ ขณะที่ภาพรวมปี 64 ยังคงเป้ารายได้โต 20% ส่วนไตรมาส 2/64 ส่งมอบรถบัสโดยสารไฟฟ้า 400-500 คันหนุนผลงานแจ่ม เชื่อบอร์ด EV กำหนดเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้าสร้างความมั่นใจผู้ประกอบการขยายฐานผลิตในไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยในช่วงที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศเสนอขายโรงไฟฟ้าให้กับ EA ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ พลังงานน้ำขนาดเล็กที่ สปป.ลาว โซลาร์ฟาร์ม ก็มีเสนอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องดูผลตอบแทนที่เหมาะสมและความคุ้มค่ากับการลงทุนในแต่ละประเทศต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ เช่น การลงทุนในประเทศเวียดนาม เมียนมา ผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต้องไม่ต่ำกว่า 12-13% เพราะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการลงทุน ส่วนการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับ 8% ก็ยังมีความน่าสนใจในการลงทุนอยู่ ซึ่งจะได้ข้อสรุปปิดดีลเมื่อไหร่ยังตอบไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจและข้อตกลงทั้งสองฝ่าย

ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์นั้นมองว่าผลตอบแทนจากการลงทุนยังต่ำ โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบ่งเป็น 1.ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา feed-in tariff (FIT) 4.8482 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FIT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย 2.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกินร้อยละ 25 มี FIT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FIT premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาท/หน่วย ขณะเดียวกัน EA ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ

ส่วนความคืบหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเที่ยมไอออนเฟสแรกขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) นั้นคาดว่าติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จสิ้นเดือน เมษายน 2564 ต้นเดือน พฤษภาคม เริ่มทดสอบการเดินเครื่องใช้เวลา 2 เดือน และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน กรกฎาคม 2564

ขณะการลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 500 แห่ง แต่เปิดให้บริการชาร์จไฟฟ้าราว 420 แห่ง คิดอัตราค่าชาร์จไฟฟ้า 6.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งในปีนี้จะเร่งดำเนินการขยายให้ได้ตามเป้าหมาย 1,000 แห่ง โดยในระยะแรกจะเน้นขยายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดที่ได้รับความนิยมเรื่องท่องเที่ยว เช่น พัทยา (ชลบุรี) ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) เขาใหญ่ (นครราชสีมา) เป็นต้น และจะเน้นจุดติดตั้งสถานีในห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม และในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งก็ได้ร่วมมือกับทั้งสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ (Caltex) และสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ (SUSCO)

ส่วนโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประกอบรถบัสโดยสารไฟฟ้าคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/2564 จะสามารถส่งมอบได้ราว 400-500 คัน และภายในปี 2564 มั่นใจว่าจะมีออร์เดอร์และดำเนินการผลิตพร้อมส่งมอบได้กว่า 1,000 คัน ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่เป็นรถเมล์ร่วมบริการ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่นำไปใช้ภายในองค์กร อย่างไรก็ตามการส่งมอบรถบัสโดยสารไฟฟ้าในช่วงไตรมาส2 นี้ก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้ผลประกอบการของ EA เติบโตดีกว่าไตรมาส 1/2564

ทั้งนี้การผลิตและจำหน่ายรถบัสโดยสารไฟฟ้าที่ EA รับผลิตจตามออร์เดอร์นั้นขนาด 10-12 เมตร เฉลี่ยคันละประมาณ 6-7 ล้านบาทนั้นจะเป็นปัจจัยหนุนรายได้เติบโตในปี 2564 ซึ่ง EA ยังคงกำหนดเป้าหมายรายได้เติบโตในระดับ 20% เมื่อเทียบกับรายได้รวมของ EA ในปี 2563 ที่มีรายได้รวม 17,199 ล้านบาทและจะส่งผลให้มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ EV เพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากในปีที่ผ่านมายังไม่มีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจ EV

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) ได้ประกาศกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการที่จะขยายฐานการผลิตในประเทศไทย และจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ที่สำคัญของภูมิอาเซียน ส่วนปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปีนี้ก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และในปีหน้าและปีต่อไปคาดว่าจะมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ออกมาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค