EGCOมั่นใจผลงานปี64เติบโตแข็งแกร่ง

ผู้ชมทั้งหมด 1,294 

EGCO มั่นใจผลประกอบการปี 64 เติบโตดีกว่าปี 63 หลังเตรียมรับรู้รายได้หลังงานลม “หยุนหลิน” ลุยขยายกำลังการผลิตเพิ่มตามแผน 1,000 เมกะวัตต์ พร้อมผนึก กฟผ. ร่วมลงทุนแบตเตอรี่ รับกระแสรถEV คาดสงครามจีน-ไต้หวัน ไร้ผลกระทบโครงการในไต้หวัน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2564 ของบริษัท ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2564 นั้นบริษัทฯ ยังมั่นใจว่ากำไรสุทธิ และรายได้จะเติบโตดีกว่าปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 8,733 ล้านบาท มีรายได้ที่ 37,782 ล้านบาท แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 จะยังแพร่ระบาดอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ผลประกอบการจะได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปี 2563 และได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” กำลังการผลิต 640 เมกะวัตต์ในไต้หวัน โดยที่ EGCO ถือหุ้นในสัดส่วน 25% หรือ 160 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปลายปีนี้

ขณะเดียวกันในปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการ (M&A) อยู่ 3-4 โครงการ โดยรวมโครงการลงทุนในโรงไฟฟ้า “ลินเดน โคเจน” ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 972 เมกะวัตต์ ที่เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะปิดดีลและรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาสที่ 2/2564 อย่างไรก็ตามในปี 2564 นั้นบริษัทฯ เตรียมเงินลงทุนไว้ 37,000 ล้านบาท และตั้งเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 1,000 เมกะวัตต์

ส่วนกรณีที่คาดว่าจะเกสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น ปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนโครงการพลังงานลม “หยุนหลิน” ในไต้หวัน ถือหุ้น 25% คาดว่า จะมีกำไร 1,400 ล้านบาทต่อปี ก็อาจมีผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น แต่การลงทุนไต้หวันไม่ใช่รายได้หลัก และบริษัทยังกระจายการลงทุนในหลายประเทศ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า EGCO อยู่ระหว่างศึกษาแผนธุรกิจใหม่ ผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 40%และมีบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ EGCO ร่วมถือหุ้นด้วยรายละ 30% เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) เช่น สมาร์กริด นวัตกรรมที่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เช่น การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และแบตเตอรี่ การพัฒนาสถานีไฟฟ้าและระบบส่ง ให้รองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน ในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรถยนต์ EV ซึ่งถือเป็นนโยบายแห่งชาติ หลังจากภาครัฐมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ตั้งเป้าหมายภายในปี 2578 รถเครื่องยนต์สันดาปจะต้องเปลี่ยนเป็นรถEV 100% จะส่งผลให้ แบตเตอรี่ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนรถEV มีความต้องการมากขึ้น และปัจจุบัน แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ใช้สำคัญรถEV มีแนวโน้มราคาถูกลง และความต้องการใช้จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนรถEV ซึ่งจะเป็นโอกาสในการลงทุนในธุรกิจEVของEGCO