EGCO ลั่นปีนี้เร่งทยอยปิดดีลM&A รฟ.ดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มสู่เป้า 1,000 MW

ผู้ชมทั้งหมด 607 

EGCO ลั่นเดินหน้าทยอยปิดดีล M&A โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งประเภท Conventional และ พลังงานหมุนเวียน สู่เป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตใหม่ 1,000 เมกะวัตต์ในปีนี้ ภายใต้งบ 30,000 ล้านบาท คาด เร็วๆนี้ ปิดดีลซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม “ไรเซ็ก” (RISEC) รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ขณะที่โครงการ TPN คาดCOD ไตรมาส 2ปีนี้ แย้มพร้อมร่วมชิงโควตาผลิตไฟพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 อีก 3,660 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือEGCO เปิดเผยในงาน Oppday Year End 2022 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) EGCO เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 โดยระบุว่า ในปี 2566  “เอ็กโก กรุ๊ป” ตั้งงบประมาณอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท เพื่อ ซึ่งจะแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยมุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงดั้งเดิม (Conventional) และพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในหลายโครงการ คาดว่า จะสามารถทยอยปิดดีลการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวม(M&A) ทั้งโรงไฟฟ้าดั้งเดิม และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้ต่อเนื่องในปีนี้

“เอ็กโก กรุ๊ป ยังเดินหน้าแสวงหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการยื่นเสนอผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ที่เบื้องต้น บริษัท ผ่านการคัดเลือก 19 โครงการ คาดว่าจะประกาศผลในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ส่วนการเปิดให้เสนอผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพิ่มเติม 3,660 เมกะวัตต์นั้น บริษัท สนใจเข้าร่วมอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องรอดูเงื่อนไขที่ภาครัฐจะประกาศออกมาอีกครั้ง”

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆในปีนี้ ประกอบด้วย การซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม “ไรเซ็ก” (RISEC) รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา คาดว่า จะปิดดีลได้ภายใยเดือนมี.ค.นี้

ส่วนโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TPN) คาดว่า จะเดินเครื่องได้เต็มรูปแบบ และทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หรือ ประมาณเม.ย.-พ.ค.นี้

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการ Apex Clean Energy (APEX) ในสหรัฐ ที่มีกำลังผลิตรวม 50,000 เมกะวัตต์ จะเดินหน้าทยอย COD ต่อเนื่อง โดยคาดว่า ในปีนี้ จะทยอย COD อยู่ที่ 1,182 เมกะวัตต์ และปี 2567 จะทยอยCOD อีก 2,578 เมกะวัตต์ ตลอดจนโรงไฟฟ้า “เอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย” คาดว่า จะทยอย COD ได้ในช่วงต้นปีหน้า

รวมถึง โรงไฟฟ้าพลังงานลม Yunlin ในไต้หวันที่ล่าช้าไปจากแผนเนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและมรสุมทำให้เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการติดตั้งกังหันลมแล้วเสร็จ ครบ 80 ต้น ภายในปี 2567 โดยปีที่ผ่านมา ติดตั้งไปได้แล้ว 16 ต้น และปีนี้ มีแผนติดตั้งอีก 22 ต้น และปีหน้าจะติดตั้งครบ 44 ต้น

ขณะที่โรงไฟฟ้าเคซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน และใกล้จะหมดอายุลงในปี 2568 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้านั้น บริษัท อยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมและเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2-3 แนวทาง และการต่ออายุก็เป็นหนึ่งในทางเลือกด้วย คาดว่ายังต้องใช้เวลาพิจารณาแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุด

สำหรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาตินั้น มีผลกระทบต่อบริษัทน้อยมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)รองรับ 79% ส่วนอีก 18% เป็นการขายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขาไฟฟ้า(POWER POOL) ซึ่งสามารถส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ ขณะที่ 3%เป็นการขายไฟฟ้าตรงให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม(IU) จึงถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างน้อย 

นายเทพรัตน์ กล่าวอีกว่า บริษัท จะไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆเพิ่มเติม แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่แล้วจะปรับปรุงให้เป็นสีเขียวมากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าBLCP ที่ปัจจุบันมีต้นทุนผลิตไฟฟ้ากว่า 1 บาทต่อหน่วยเข้าเท่านั้น ฉะนั้นการปรับปรุงโรงไฟฟ้าBLCP ให้เป็นสีเขียวแม้ว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่าและเป็นโอกาสที่จะขอขยายอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงยังจะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และเมื่อถึงเวลานั้นในพอร์ตของบริษัท ก็จะไม่มีเชื้อเพลิงถ่านหินอีกต่อไป

ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,202 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา