GC คาดผลงานปี66 โตรับปริมาณการผลิต-ยอดขายเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 500 

GC คาด ราคาน้ำมันดิบปี66 เคลื่อนไหวที่ระดับ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มองแนวโน้มผลการดำเนินงานปีหน้าดีขึ้นจากปี65 รับปริมาณการผลิตและการขายเพิ่มขึ้น จากโรงงานใหม่ทยอยเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ขณะที่งบลงทุนใช้ต่ำกว่าปีนี้ หลังโครงการขนาดใหญ่เสร็จสิ้น ส่วนผลประกอบการไตรมาส4/65 คาดว่า ดีขึ้นจากไตรมาส3/65 หลังขาดทุนรายการพิเศษลดลง

นายจิตศักดิ์ สุนทรพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธุ์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยในงาน Oppday Q3/2022 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้นจากปี 2565 จากการเพิ่มอัตรากำลังการผลิตที่จะดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากมีแผนหยุดซ่อมบำรุงน้อยกว่า โดยปีนี้ มีการหยุดซ่อมบำรุงโอเลฟินส์แครกเกอร์ และโรงกลั่นน้ำมันในไตรมาส4ปี65 ประมาณ 50  วัน อีกทั้งจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ทั้งจากโครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ที่คาดว่าจะ COD ในช่วงไตรมาส 1 ปี2566 และโรงงานรีไซเคิล ที่จะ COD ในต้นปี 2566 เป็นต้น

ขณะที่ปริมาณการขาย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว โดยIMF คาดการณ์ GDP โลกปี2566 จะเติบโต 2.7% รวมถึงทิศทางธุรกิจของ Allnex ในปีหน้าที่ประเมินว่าจะเติบโตดีกว่าปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ZERO COVID-19)ของจีน

นอกจากนี้ ในส่วนของวัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติ ที่ปีนี้ มีผลกระทบจากกำลังการผลิตลดลงจากช่วงเปลี่ยนผ่านระบบบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย แต่คาดว่า ในปีหน้าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ซึ่งจะช่วงหนุนมาร์จิ้นของธุรกิจโอเลฟินส์ให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปี2566 คาดว่า ในส่วนของงบลงทุนจะใช้ต่ำกว่าปี 2565 เนื่องจากการลงทุนในโครงการหลักๆทยอยเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะเหลือใช้ในส่วนของโครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) หรือ OMP ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 ของบริษัทฯ สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับปรุงอื่นๆของบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังต้องรอพิจารณาการลงทุนโครงการของกลุ่มบริษัท Allnex ว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณในระดับใด เพื่อขยายการลงทุนในแถบเอเชียฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังเผชิญกับความผันผวน บริษัท ยังเตรียมพร้อมมาตรการอื่นๆเพื่อรับมือ ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ก็มีแผนลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งในปี 2565 ได้ตั้งเป้าลดการใช้ OPEX ลง 10-15% ทำให้เกิดการประหยัดได้ถึง 3,000-3,500 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน สถานะการเงินของบริษัท ยังแข็งแกร่ง มีเงินสดอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท และมีวงเงินกู้พร้อมรองรับการแข่งขัน ประกอบกับเรตติ้งเครดิตอยู่ในระดับที่ดี

บริษัท คาดว่า ราคาน้ำมันดิบปีหน้า จะอยู่ในกรอบ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยการใช้น้ำมันดีเซล และเบนซินกลับมาฟื้นตัวสูงกว่าช่วงเกิดโควิด เหลือแต่น้ำมันเครื่องบินที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งในส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ แม้จะได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจถดถอย แต่คาดว่าช่วงครึ่งหลังปีหน้า จีนจะเปิดประเทศมากขึ้น และจีนมีมาตรการภาษีกระตุ้นยอดขายรถEV รวมถึงประเทศอื่นๆที่กระตุ้นยอดขายรถEV ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนธุรกิจปิโตรเคมีในปีหน้าได้”

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส4 ปีนี้ หากเทียบกับไตรมาส3 ที่ผ่านมาปัจจัยหลักๆที่ส่งผลต่อธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักทั้งราคาน้ำมัน และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด) แต่ในส่วนของการขาดทุนรายการพิเศษคาดว่า จะน้องลงจากไตรมาส 3 ทั้งในส่วนของการขาดทุนจากการสต็อกน้ำมัน ที่ไตรมาส 3 ขาดทุนถึง 8,000 ล้านบาท การขาดทุนจากการทำประกันรายการตราสารอนุพันธ์เพื่อการป้องกันความเสี่ยง ที่ไตรมาส 3 ขาดทุน 2,000 ล้านบาท และการขาดทุน FX (Foreign Exchange) ที่ในไตรมาส 3 ขาดทุน ราว 3,000 ล้านบาท ฉะนั้นการขาดทุนรายการพิเศษในไตรมาส4 จะลดลง โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส4 ที่ดีขึ้นมากจากไตรมาส 3