GC ทุ่ม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ปรับพอร์ตธุรกิจลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ใน 30 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 1,072 

GC ทุ่ม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน 30 ปี ปรับพอร์ตธุรกิจ สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ในปี 2593 ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก เพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) บริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ (Portfolio-driven) และชดเชยคาร์บอน (Compensation-Driven)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC ระบุว่า GC ประกาศแผนงานสู่เป้าหมาย “Together to NET ZERO” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ร่วมกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยเป้าหมายระยะกลางในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลง 20% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดย GC วางแผนใช้เงินลงทุนสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 และจะลงทุนเพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อไป เพื่อการบรรลุเป้าหมายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ จะอยู่ภายใต้  3 เสาหลัก (Three-Pillar Low Carbon Transition Framework) ประกอบด้วย

1. Efficiency-driven การเพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ โดยใช้หลัก “5R” และเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งเทคโนโลยีที่มีอยู่และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลังงาน นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ และแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20%

2. Portfolio-driven การบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของ GC Group ผ่านนวัตกรรมและการลงทุน โดยการปรับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอไปสู่ธุรกิจและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ อาทิเช่น การลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมูลค่าสูง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุหมุนเวียน คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25%

3. Compensation-driven เป็นเสาหลักสุดท้ายของกรอบนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยทางแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-Based Solutions) รวมทั้งการจัดหาและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการดักจับคาร์บอน ผ่านแนวทางต่าง ๆ ได้แก่ Corporate Venture Capitals การสร้างพันธมิตร และการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 50%

อย่างก็ตาม ก่อนหน้านี้ GC ได้เข้าซื้อกิจการของ allnex ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท รวมถึงเป็นผู้นำในการนำเสนอโซลูชั่นการพัฒนาแอพพลิเคชันการเคลือบต่างๆ  โดย allnex ยึดถือนโยบายในการปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม Coating มานานกว่า 70 ปี โดยได้รับการจัดอันดับในระดับ Gold Ratings ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจาก EcoVadis

นอกจากนี้ NatureWorks ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ GC โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ NatureWorks ได้ประกาศการก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอโพลีเมอร์แบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้ GC เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจพลาสติกชีวภาพ รวมถึงการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร

“เราเชื่อว่า เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2593 จะสามารถสำเร็จลุล่วงได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เราพร้อมที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในระดับสากล เพื่อช่วยให้โลกของเราสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไปด้วยกัน”

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า GC ยังต้องเป้าหมายที่จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิต่อเฉลี่ยปีละ 4% ต่อเนื่องใน 5-6 ปีข้างหน้า ขณะที่การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ก็เป็นไปตามความต้องการใช้น้ำมัน(ดีมานด์)ทั่วโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19 ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมัน(ซัพพลาย)จากกลุ่มโอเปก ที่ยังไม่มีเพิ่มการผลิต ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น แต่ GC มีสัดส่วนการจัดซื้อน้ำมันดิบในปริมาณน้อย เนื่องจากยังคงใช้วัตถุดิบหลักจากก๊าซธรรมชาติ และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน คาดว่าจะส่งผลดีต่อมาร์จิ้นการกลั่นในปีหน้า ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ก็ยังต้องติดตามหลายปัจจัยประกอบกัน ขณะเดียวกัน GC ได้ทำการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้แล้วตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบกลับไปลดต่ำลงก็จะไม่มีปัญหาขาดทุนจากการสต็อกน้ำมันในปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัท ยังมองหาโอกาสการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งน่าจะเห็นความคืบหน้าในเข้าซื้อกิจการออกมาต่อเนื่อง แต่คงยังไม่ใช่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เท่ากับการเข้าซื้อกิจการของ allnex เกิดขึ้นในเร็วๆนี้

นายชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ระบุว่า เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 หรือ ใน 30 ปีข้างหน้า GC คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน (ช่วงปี ค.ศ. 2021-2050) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก อยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ และลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจอีก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ มีวงเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยที่การขับเคลื่อนธุรกิจยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป