GPSC ผนึกCHPPรุกตลาดทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ

ผู้ชมทั้งหมด 1,142 

GPSC ผนึกCHPP รุกตลาดทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ พัฒนาผลิตภัณฑ์ GFloat นวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำเชิงพาณิชย์ในรูปแบบ New Normal รองรับเทรนด์พลังงานสะอาด

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด G Float ที่ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ New Normal เป็นครั้งแรกของไทย เป็นนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่พร้อมดำเนินการในเชิงพาณิชย์เพื่อใช้สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (FloatingPV System) ป้อนสู่กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำบนแหล่งน้ำขนาดใหญ่

ทั้งนี้จากความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทชั้นนำของโลก ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐานและความปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ GPSC ยังให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมพลังงานสู่การสร้างสรรค์อนาคตด้วยแนวคิด Smart Energy for Evolving life ที่จะรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่เป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทฯและ กลุ่ม ปตท.

นอกจากนี้เพื่อรองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพลังงานโลกที่หันมาให้ความใส่ใจในการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ GPSC เดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ผ่านการดำเนินงานของCHPP (ถือหุ้น 100% โดย GPSC) ที่จะเป็นหน่วยธุรกิจหลักที่สำคัญ ในการนำนวัตกรรมพลังงานมาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าภายใต้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นางรสยา กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ได้ผ่านการพัฒนา และออกแบบที่มีจุดเด่นให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการติดตั้งแผงโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำที่ใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติก(HighDensity Polyethylene หรือ โพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทาน สามารถผสมสารป้องกัน UV และขึ้นรูปได้ง่ายเพื่อผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำที่มีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานยาวนาน

ทั้งนี้ CHPP ยังได้มีการออกแบบจุดยึดของทุ่นโซลาร์ เพื่อให้มีความแข็งแรงทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งกระแสคลื่นและลมได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ทุ่นลอยน้ำมีความมั่นคงและไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพผลิตไฟฟ้าการออกแบบยังได้คำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วในการประกอบทุ่นและง่ายต่อการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่ง G Float ยังได้ออกแบบให้สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์ขนาดมาตรฐานจนถึงขนาดใหญ่เพื่อรองรับกับแผงโซลาร์ที่จะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักที่มากขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆในอนาคต              

โดยเทคโนโลยี G Float จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมให้โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีอายุการใช้งานของวัสดุยาวนานถึง 25 ปี ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีความปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้น้ำ ผ่านการทดสอบ Food Contact ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA)

สำหรับเทคโนโลยี G Float ยังถูกนำไปใช้ในโครงการเมืองอัจฉริยะให้กับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาและโซลาร์ลอยน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมถึงโครงการความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (FloatingSolar on sea) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองจังหวัดระยอง เป็นต้น