GPSC หวังผลประกอบการปี66 โตรับ “เศรษฐกิจฟื้น-รัฐขึ้นค่าFt”

ผู้ชมทั้งหมด 532 


GPSC คาดผลประกอบการปี2566 ดีกว่าปี2565 รับปัจจัยบวกความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม รัฐปรับขึ้นค่าไฟ(Ft) พร้อมลุ้นผลยื่นประมูลผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน(ลมและโซลาร์) ลุยขยายลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ร่วมกับ กลุ่มปตท.

น.ส.ศิโรบล บุญถาวร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยในOppday Q3/2022 บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2565 โดยระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 คาดว่า จะเติบโตดีกว่าปี 2565 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้ไฟฟ้า(ดีมานด์) ของกลุ่มลูกค้าที่เข้มแข็ง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ประกอบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในการพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดแรกของปี2566(ม.ค.-เม.ย.) ใน 3 แนวทาง ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นราว 1 สตางค์จะส่งผลต่อรายได้ของGPSC ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี แต่ขณะเดียวกันบริษัท ก็ยังได้รับปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะราคาก๊าซฯ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัท ยังเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน อยู่ที่ 34% ซึ่งขณะนี้ บริษัท อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้า ในช่วงวันที่ 25 พ.ย.นี้ เพื่อเข้าร่วมประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่รัฐ เปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัท สนใจยื่นเสนอโครงการประเภทพลังงานลม และโซลาร์ฯ ที่จะทราบผลผู้ชนะการประมูลราวเดือนมี.ค.ปีหน้า

รวมถึง บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ หลังจากปตท. ได้จับมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ เดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) โดยบริษัท เตรียมส่งบริษัทลูก คือ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GPSC กับ บริษัท บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เข้าไปร่วมซัพพอร์ตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์EV นั้น ก็คาดว่า จะเห็นความชัดเจนในส่วนนี้ได้ภายใน 1-3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ในส่วนของการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ โครงการต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ในไทย ที่GPSC ร่วมกับ ปตท. อยู่ระหว่างออกแบบการก่อสร้าง และนำโปรดักส์พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ซึ่งระยะยาวก็จะป้อนให้กับรถEV ส่วนอีกโครงการผลิตแบตเตอรี่ในจีน อยู่ระหว่างการก่อสร้างขนาด 1 กิกกะวัตต์-ชั่วโมง จะแล้วเสร็จตามแผน ต้นปี 2566


นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทลูก คือ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) ก็ยังเดินหน้าขยายโอกาสการลงทุนต่อเนื่อง รวมถึง บริษัท ยังเข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox 2 อีก 3 โครงการ ซึ่งก็จะเป็นการสร้างโอกาสขยายการเติบโตในอนาคต

“ดีลซื้อกิจการนั้น บริษัท ก็ยังมองหาโอกาส ควบคู่กับการรักษาผลการดำเนินงาน แต่ตอนนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว จะแจ้งใหทราบต่อไป”

น.ส.ศิโรบล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฟาร์ม ในอินเดีย ที่บริษัทเข้าถือหุ้น ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) มีผลประกอบการขาดทุนนั้น เนื่องจากเกิดปัญหาซัพพลายดิสรัปราคาแผงปรับสูงขึ้น ทำให้โครงการมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบและการเร่งก่อสร้างโครงการ แต่ตามประมาณการณ์ในปีหน้า คาดว่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 200 ล้านบาท