GULFคาดลงนามท่าเรือแหลมฉบังเฟส3ต้นปี64

ผู้ชมทั้งหมด 893 

GULF คาดลงนามสัญญาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ต้นปี 64 หลังเจรจาต่อรองราคาคืบหน้า ขณะที่โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 หวังเริ่มถมทะเลเม.ย. 64 คาด EHIA แล้วเสร็จปีนี้ ชี้ความต้องการใช้ LNG ในประเทศเพิ่มขึ้น ราคาถูกลง

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ รองประธานเจ้าหน้าบริหาร และกรรมการด้านความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวภายในงานสัมมนา “EEC GO เดินหน้าลงทุน” ว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองผลประโยชน์ตอบเทนกับ GULF โดยก่อนหน้านั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินราว 32,000 ล้านบาท ซึ่งการเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และสามารถลงนามในสัญญาต้นปี 64

ทั้งนี้การลงทุนพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 นั้นการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนถมทะเล และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย GULF บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาโครงการตลอดสัมปทาน 35 ปี

ส่วนความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟสที่ 3 ขณะนี้ได้มีการลงนามสัญญาผู้รับเหมาไปแล้ว และอยู่ระหว่างแก้ไขการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health impact Assessment: EHIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มถมทะเล และก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาด 1,000 ไร่ได้ในช่วงเดือน เม.ย. 64 คาดใช้เงินลงทุนราว 12,900 ล้านบาท ซึ่งการถมทะเลนั้นคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 67 หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำนเนินการก่อสร้างท่าเรือ คลังรองรับ LNG ขนาด 10.8 ล้านตันต่อปี ซึ่งใช้พื้นที่ราว 200 ไร่ คาดใช้เงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ในปี 69

ขณะเดียวกันการขยายการลงทุนท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 นั้นยังเป็นการรองรับความต้องการใช้ LNG ที่คาดว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมา จะค่อยๆลดลง ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) พบว่าในปี 2561-2580 การนำเข้า LNG จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี จะเพิ่มเป็น 22 ล้านตันต่อปีในช่วงปลายแผน ขณะเดียวกันราคา LNG มีราคาถูกกว่าก๊าซในอ่าวไทย ดังนั้นนโยบายส่งเสริมการแข่งขันนำเข้าเสรี จะทำให้ได้ LNG ในราคาที่ถูกลง