PTTผนึกIRPCศึกษาการผลิตผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย

ผู้ชมทั้งหมด 711 

PTT ผนึก IRPC ศึกษาการผลิตผ้า Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย (PPE) หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หวังจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 65

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTและกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า แนวโน้มเรื่องความสำคัญของสุขอนามัย เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาสังคมและผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์จึงจำเป็น และยังมีโอกาสในการพัฒนาสูง กลุ่ม ปตท. มีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศ

ความร่วมมือกับ IRPC ในการผลิตผ้า Melt Blown และ Nitrile Butadiene Latex (NBL) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สาธารณสุขนั้นเป็นอีกก้าวที่สำคัญจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็น New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของอาเซียน ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามสำหรับโรงงานผลิตผ้า Melt Blown และ Nitrile Butadiene Latex (NBL) นี้จะตั้งอยู่ที่จังหวัดระยองในพื้นที่ของ IRPC คาดหวังว่าจะสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2565 และ 2568 ตามลำดับ

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า IRPC เล็งเห็นโอกาสจากสถานการณ์ “New Normal” และมีกลยุทธ์มุ่งสู่การเติบโตไปยังธุรกิจปิโตรเคมีปลายน้ำให้เข้าใกล้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Smart Material โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายห่วงโซ่อุปทานธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัทฯ

โครงการนี้นับเป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของ ไออาร์พีซี ในการมุ่งเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากร โครงสร้างพื้นฐานและ Research  & Development (R&D) นอกจากนี้ยังเป็นขยายผลการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ไออาร์พีซี กับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในโครงการสร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ ไออาร์พีซี และกลุ่ม ปตท. ที่จะผลิตผ้า Melt Blown ของคนไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้า เพิ่มเสถียรภาพด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยคุณสมบัติของผ้า Melt Blown เป็นผ้าที่มีเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับนาโนเมตร-ไมโครเมตร นิยมในการนำไปทำชั้นกรองในหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 หน้ากากทางการแพทย์  ชุดกาวน์ และแผ่นกรองต่างๆ ในส่วนของ NBL นั้นเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตถุงมือไนไตร มีความแตกต่างจากถุงมือยางจากธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีความทนทานต่อสารเคมีและตัวทำละลายต่างๆ มากกว่า

โดยผู้ใช้จะไม่เกิดอาการระคายเคืองจากโปรตีนที่เกิดจากยางพารา จึงเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ซึ่งไออาร์พีซี เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขให้กับประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัดกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญ ของการสร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงเร่งพัฒนาธุรกิจด้าน Life Science ให้เป็น New S-Curve ของ ปตท. และประเทศไทย

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจยา อาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงได้มีแผนการลงทุนในการผลิตผ้า Melt Blown ซึ่งเป็นผ้าที่มีเส้นใยขนาดเล็ก มีคุณสมบัติการกรองที่ดี สามารถใช้เป็นผ้าชั้นกรองในหน้ากากอนามัย N95 และทำชุดกาวน์ได้ดี รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับทำถุงมือไนไตร มีคุณสมบัติทนต่อสารเคมี และเป็นที่ต้องการของตลาดนอกเหนือจากถุงมือยางธรรมชาติ ซึ่งการศึกษาลงทุนทั้ง 2 โครงการจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย และการพัฒนาธุรกิจการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศต่อไป