PTTพร้อมปิดดิวกฟผ.ร่วมลงทุนคลังLNGภาคใต้

ผู้ชมทั้งหมด 1,346 

PTT พร้อมปิดดิวกฟผ.ร่วมลงทุนคลัง LNG ภาคใต้ คาดสรุปได้ภายในปีนี้ ประเมินความต้องการใช้ LNG ป้อนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ โรงไฟฟ้าขนอมอยู่ที่ 3-5 ล้านตันต่อปี ส่วนโครงการคลัง LNGหนองแฟบรอกฟผ.ศึกษารายละเอียด

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินการศึกษาด้านเทคนิคและพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Terminal ในพื้นที่ภาคใต้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018Revision1)  

ทั้งนี้ในเบื้องต้นการดำเนินโครงการนั้นจะแบ่งงานกันลงทุน โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 โรงชุดที่ 1 ขนาด 700 เมกะวัตต์ (MW) เข้าระบบปี 2570 กับชุดที่ 2 ขนาด 700 MW เข้าระบบปี 2572 รวมกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทาง กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ส่วน Terminal อาจจะร่วมกันลงทุน แต่ก็ต้องหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมร่วมกันก่อน

ส่วนปริมาณก๊าซฯ หากพิจารณาจากความต้องการใช้ก๊าซฯที่จะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราชคาดว่าจะมีความต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 3-5 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามโครงการ LNG Terminal ในพื้นที่ภาคใต้คาดว่าจะสามารถเสนอแผนให้กระทรวงพลังงานพิจารณาได้ภายในปีนี้ ทั้งนี้หากดำเนินตามแผน PDP กำหนดแล้วเสร็จในปี 2568-2569

ส่วนโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่ให้ปตท.กับกฟผ.ร่วมลงทุนกันฝ่ายละ 50% ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้กฟผ.เข้ามาศึกษารายละเอียดต่างๆ ในโครงการ ซึ่งโครงการนี้ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ฉะนั้นในแง่ของเงินลงทุนก็คงจะต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะเป็นรูปแบบใด

ขณะที่แผนการลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่​ (แห่งที่ 7) เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่ 1 มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม​ (EIA) ซึ่งจะต้องตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 2565 เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้าง โดยตามกำหนดทั้ง 2 โครงการจะต้องดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567

นายวุฒิกร ยังกล่าวถึง กรณีที่กฟผ.มีแผนเตรียมเปิดประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ล็อตใหม่ในช่วงปลายปีนี้ว่า ในส่วนของ ปตท.ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร ซึ่งสามารถร่วมการประมูลได้ตามกฎหมาย แต่จะตัดสินใจเข้าร่วมการประมูลหรือไม่นั้นยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องของปริมาณนำเข้า LNG ที่กฟผ.จะเปิดประมูลด้วย ซึ่งต้องรอดูว่าปริมาณนำเข้าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่