PTTEPพร้อมรับมือเข้าเอราวัณล่าช้า-เชื่อไม่ต้องเสียค่าปรับ

ผู้ชมทั้งหมด 1,143 

PTTEP เตรียมเจรจากรมเชื้อเพลิงรับมือเข้าพื้นที่เอราวัณล่าช้า ผลิตก๊าซในอ่าวไทยและนำเข้าLNG เข้ามาเสริมช่วงเปลี่ยนผ่านปี 65 เชื่อไม่ต้องเสียค่าปรับหากผลิตก๊าซฯ ไม่ได้ตามสัญญา เพราะผู้ผลิตรายเดิมไม่ส่งมอบพื้นที่ แย้มเตรียมความพร้อม 8 แท่นผลิต ไว้รอ พร้อมตั้งงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับลงทุน 5 ปีในแหล่งเอราวัณ

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTTEP ที่เป็นผู้ชนะการประมูลและได้สิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แปลงเอราวัณได้นั้นในเบื้องต้นประเมินว่าก๊าซธรรมชาติจะหายไปประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา PSC

ส่วนกรณีเรื่องค่าปรับนั้นหาก ปตท.สผ. อีดี ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญา PTTEP ก็จะไปหารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในเรื่องนี้ เพราะมองว่าปตท.สผ. อีดี ไม่หน้าจะต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากผู้ผลิตรายเดิมไม่ส่งมอบพื้นที่ให้ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ไม่สามารถเจรจาให้ ปตท.สผ. อีดี เข้าพื้นที่ได้ตามแผน ทั้งที่ ปตท.สผ. อีดี ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

โดยบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อม 8 แท่นผลิตไว้แล้ว เพื่อให้สามารถติดตั้งได้ทันทีหากผู้รับสัมปทานรายเดิมบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อนุญาตให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ซึ่งการลงทุนในโครงการเอราวัณ PTTEP ระหว่างปี 2564-2568 นั้นได้เตรียมงบลงทุนไว้ 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือรวม 5 ปีคิดเป็นเงินลงทุนราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้สำหรับการติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่ม

พร้อมกันนี้เพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว PTTEP ได้ประสานกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อจัดทำแผนรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย คือ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ขึ้นมาทดแทนปริมาณ 80% ของกำลังการผลิตก๊าซฯขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่วนทีเหลืออีก 20% อาจเป็นการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาทดแทน ซึ่งคาดว่า ผลกระทบที่จะส่งผ่านต่อผู้ใช้ไฟฟ้าคงไม่มากนักเพราะเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยมาทดแทน

ส่วนแผนการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกชนั้นจะดำเนินการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่มีเงื่อนปริมาณการผลิตก๊าซฯขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญา PSC โดยปัจจุบัน แหล่งบงกช มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ อยู่ที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปริมาณซื้อขายจริงในปัจจุบันอยู่ที่ 940 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งอาทิตย์ คาดว่า จะสามารถผลิตก๊าซฯได้เพิ่มประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ อยู่ที่ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปริมาณซื้อขายจริงในปัจจุบันอยู่ที่ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อนึ่งโครงการเอราวัณของผู้รับสัมปทานรายเดิมบริษัท เชฟรอนฯ นั้นจะหมดสัญญาภายในเดือนเมษายน 2565 เบื้องต้นจากการประเมินพบว่าปัจจุบันแหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซอยู่ที่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ภายหลังหมดสัญญากำลังการผลิตจะลดลงเหลือ 500-600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่สัญญาใหม่นั้น ปตท.สผ. อีดี ได้ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ