PTTEPส่งซิกไตรมาส2โตเด่นหลังปริมาณการขายเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 1,022 

PTTEP ยันไม่ปรับลดงบลงทุนแม้เข้าพื้นที่เอราวัณล่าช้า ยันเดินหน้าลงทุนตามแผนไม่หวั่นโควิด-19 ขณะที่โครงการ Gas to Power ในเมียมาไม่ชะลอลงทุน คาดตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 65 ส่วนผลงานไตรมาส 2 มีโอกาสดีกว่าไตรมาสแรกหลังมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า การเข้าพื้นที่ แปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) ของบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTTEP แม้ว่าจะมีความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ แต่บริษัทยังไม่มีแผนปรับลดงบลงทุนในแผน 5 ปีแต่อย่างใด ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้รับสัมปทานเดิม คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมทั้งเจรจากับผู้รับซื้อก๊าซฯ ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตามคาดว่าความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตที่อาจไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่บริษัทเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ PTTEP ยังคงดำเนินการลงทุนตามแผนเช่นเดิมแม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ หรือความไม่สงบในบางประเทศ ซึ่งการลงทุนในบางโครงการอาจจะล่าช้าออกไป โดยเฉพาะโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ที่ชะลอออกไปก่อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก

ขณะที่โครงการ Gas to Power กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเมียนมา ยังดำเนินการตามแผนเช่นกันแม้ว่าในช่วงนี้จะยังไม่สามารถลงพื้นที่ได้จากเหตุการณ์ไม่สงบ แต่ด้านการออกแบบทางวิศวกรรมและการเจรจาสัญญาขายไฟฟ้ายังเป็นไปตามแผน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้า คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปี 2565 และคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้ตามกำหนดปลายปี 2568 ทั้งนี้ตามแผนลงทุนในปี 2564 นั้นบริษัทตั้งงบประมาณไว้ที่ 132,174 ล้านบาท เพื่อรักษากำลังการผลิตจากโครงการหลัก เร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อเริ่มการผลิตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ และดำเนินกิจกรรมการสำรวจเพื่อการเติบโตในระยะยาว

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 เนื่องจากบริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.16 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากการโครงการโอมาน แปลง 61 เต็มปี ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1/2564 ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3.83 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ในไตรมาส 2/2564 บริษัทก็มั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 1/2564 มีต้นทุนต่อหน่วยอยู่ที่ 27.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาก๊าซฯจะปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้นจึงคาดว่าภาพรวมประกอบการไตรมาส 2/2564 จะดีขึ้นจากไตรมาสก่อน มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาพรวมทั้งปี 2564 บริษัทคาดว่า EBITDA Margin จะอยู่ที่ 70-72%