PTTEP ปรับกลยุทธ์ลงทุน เร่งผลิตก๊าซฯ “อ่าวไทย-เมียนมา” ตอบโจทย์ “มั่นคงทางพลังงาน-ราคารับได้-โลกยั่งยืน”

ผู้ชมทั้งหมด 969 

“วิกฤตพลังงาน” ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวนปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัญหาสงครมรัสเซีย-ยูเครน นำไปสู่การขาดแคลนพลังงาน และปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก ทำให้วงการพลังงานกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานที่ต้องตอบโจทย์ใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความมั่นคงทางพลังงาน 2.ราคาที่รับได้ 3.ความยั่งยืนของโลก โดยการลงทุนพลังงานจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบอดีตไม่ได้แล้ว ดังนั้น ผู้นำธุรกิจพลังงานทั่วโลกจึงพยายามหาสมดุลใน 3 เรื่องดังกล่าว

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) ชัดเจนว่าเป็นองค์กรที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ด้านฐานการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย และการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำก๊าซฯเข้ามา โดยราคาต้องทำให้รับได้ ส่วนการทำให้โลกยั่งยืนด้วยการปรับลดอุณหภูมิของโลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ปตท.สผ.จึงได้ปรับแผนกลยุทธ์การลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับบริบททางพลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นลงทุนด้านการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม(E&P) แบบในอดีตเท่านั้น

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ระบุว่า ปตท.สผ. ได้ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 ด้าน (Pillar) ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้การลงทุนด้าน E&P แข็งแรงมากขึ้น โดยจะเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาโครงการหลัก ๆ ในต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำและสร้างมูลค่าเพิ่ม

2.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) โครงการปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท รวมถึง การดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) ผ่านโครงการปลูกป่าบก และป่าชายเลน ตลอดจนการดำเนินโครงการตามกลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง

ปัจจุบัน มีอยู่ 2 โครงการที่ทำเรื่องของ “Decarbonize” คือ โครงการแหล่งอาทิตย์ ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในการลงทุน CCS คาดว่า ปลายปีนี้ จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ได้ โดยเบื้องต้น ประเมินว่า จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทย ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศจากทุกอุตสาหกรรม อยู่ที่กว่า 300 ล้านตันต่อปี

อีกโครงการ คือ แหล่ง ลัง เลอบาห์ ในมาเลเซีย ซึ่งแหล่งที่ผลิตก๊าซฯไม่ได้ปล่อยก๊าซฯ ในอัตราที่สูง แต่สเปรคของการรับก๊าซฯ ต้องการปล่อยคาร์บอนฯที่ต่ำมาก และปตท.สผ.มีอีกแหล่งที่ผลิตก๊าซฯอยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถเร่งผลิตก๊าซฯ และนำคาร์บอนฯไปกักเก็บไว้ได้

3.สร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง ธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับอนาคต โดยด้านเทคโนโลยี วันนี้ ปตท.สผ.ก็มีบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ที่เริ่มเติบโต และปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้โดรนเพื่อสำรวจต่างๆ 2.หุ่นยนต์ใต้น้ำ เพื่อสำรวจท่อ 3.การนำโดรนมาประยุกต์ใช้สำรวจพื้นที่ป่าในการปลดปล่อยคาร์บอน และ4.เรื่องของบล็อกเชน ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ โดย ARV เริ่มมีรายได้ แม้ว่าผลประกอบการจะยังไม่เป็นบวก เพราะยังอยู่ในช่วงของการลงทุน

default

สำหรับทิศทางการลงทุนของ ปตท.สผ.ในปี 2566 ยังคงโฟกัสในประเทศที่มีฐานลงทุนอยู่เดิม แบ่งเป็น ในประเทศไทย จะมุ่งมั่นเพิ่มการผลิตโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) หลังจากในปี 2565 ได้ติดตั้งแท่นผลิตไปแล้ว 8 แท่น และในปีนี้ มีแผนจะติดตั้งอีก 4 แท่น รวมเป็น 12 แท่น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในช่วงกลางปีนี้เป็น 400-450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปีนี้ ก่อนขึ้นไปแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย.ปี2567 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC)

ขณะเดียวกันก็เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆในอ่าวไทยขึ้นมาชดเชยกำลังการผลิตจากแหล่งเอราวัณที่หายไปด้วย โดยเพิ่มการผลิตจากแหล่งอาทิตย์ เป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมผลิตราว 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีแผนจะเพิ่มการผลิตเป็น 330-350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใน 2 ปีข้างหน้า

ส่วนโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขสัญญา PSC และปัจจุบันผลิตอยู่ที่ราว 750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีบางช่วงผลิตสูงถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปีหน้าจะรักษากำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“การลงทุนเร่งผลิตก๊าซฯในโครงการG1/61 และ G2/61 ปตท.สผ.เตรียมไว้ราว  700-800 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อติดตั้งแท่นผลิต ซึ่งการเจาะหลุดผลิตในประวัติศาสตร์อ่าวไทยไม่เคยมีแท่นเจาะสูงถึง 10 แท่น และกำลังจะจ้างอีก 1 แท่น รวมเป็น 11 แท่น จะเห็นว่าเราเร่งผลิตเต็มที่ หรือเจาะราว 700 หลุมต่อปี ทั้ง 3 แหล่ง เอราวัณ-บงกช-อาทิตย์ ในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งหน้าที่เราวันนี้ คือ อ่าวไทยต้องผลิตให้ได้ตามเป้า และเมียนมา ก็หยุดผลิตไม่ได้”

ขณะที่การลงทุนในเมียนมา ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการลงทุน 2 แปลง ได้แก่ ยาดานาและซอติก้า คิดเป็นสัดส่วน 17% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯทั้งหมดในประเทศไทย ฉะนั้นถ้าก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งนี้หยุดการผลิตไปภาคตะวันตกจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ จึงขอความเห็นใจให้กับ ปตท.สผ.เพราะปัจจุบันการดำเนินงานในเมียนมาได้รับแรงกดดัน โดยภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ยังเติบโตขึ้น และเป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ. ที่จะผลิตก๊าซฯเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจุบัน ก๊าซฯที่มาจากอ่าวไทยและเมียนมา คิดเป็น 60% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯทั้งหมด ส่วนอีก 40% เป็นการนำเข้า LNG ซึ่งมีราคาแพง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 700-800 บาทต่อล้านบีทียู เทียบกับราคาเฉลี่ยก๊าซฯในอ่าวอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู ดังนั้นเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยได้ ก็จะช่วยดึงต้นทุนราคาก๊าซฯลดมาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งมีการลงทุนอยู่หลายแปลง มีการค้นพบศักยภาพก๊าซฯ และจะเร่งพัฒนา ได้แก่ โครงการลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย คาดว่า จะเริ่มผลิตก๊าซฯ ออกมาได้ภายในปี 2570 ตั้งเป้าผลิตรวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะป้อนเข้าโรงงานในมาเลเซีย เพื่อนำไปจัดทำเป็นก๊าซฯ LNG ทั้งหมด รวมถึงยังมีอีก 2-3 แหล่งที่ค้นพบในมาเลเซีย และกำลังพิจารณาว่าจะเร่งการผลิตอย่างไร ซึ่งมีทั้งแหล่งก๊าซฯและน้ำมัน ขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับลัง เลอบาห์ โดยการลงทุนในมาเลเซีย จะยังเดินหน้าการลงทุนต่อเนื่อง และสร้างพันธมิตรเพิ่ม ผ่านการดึงปิโตนาสเข้ามาเป็นร่วมพัฒนาแหล่งต่างๆ

นอกเหนือจากนั้น พื้นที่ที่ ปตท.สผ.โฟกัสคือในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ โครงการ Oman Block 61 ในประเทศโอมาน หลังเข้าไปซื้อสัดส่วนการลงทุนราว 20% ซึ่งสะท้อนต่อผลประกอบการที่ดีในปี2565 และเป็นโครงการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ส่วนอีกประเทศที่โฟกัสคือ  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีการลงทุนโครงการ  ออนชอร์  2 แปลง และ ออฟชอร์ 3 แปลง และมีการค้นพบก๊าซฯ ซึ่งก็อยู่ระหว่างเร่งการลงทุน รวมถึงยังมีการลงทุนในประเทศแอลจีเรีย ในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคช ซึ่งเริ่มผลิตแหล่งน้ำมันแหล่งที่ 2 ได้

นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปีที่ผ่านมา คาดว่ายอดขายปิโตรเลียม ในปี 2565 ทำสถิติสูงสุดโดยมีปริมาณการผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันรวม 5.8 แสนบาร์เรลต่อวัน และมียอดขายอยู่ที่ 4.68 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากโครงการในต่างประเทศโดยเฉพาะโครงการที่โอมานและประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนลงทุนของปีนี้ คาดว่า จะประกาศข้อมูลที่ชัดเจนได้ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยตามแผนประมาณการเดิม คาดว่าปริมาณการขายปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 4.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับปี2565 แต่ก็มีโอกาสที่ปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้น จากการเข้าลงทุนในโครงการใหม่เพิ่ม โดยปัจจุบันมีการเจรจาเข้าซื้อกิจการหรือรวมลงทุน(M&A)หลายโครงการและหลายพื้นที่