PTTGCเล็งเป้าใหญ่ซื้อกิจการปลายน้ำ

ผู้ชมทั้งหมด 1,316 

PTTGC ลั่นซื้อกิจการเป็นเป้าหมายใหญ่การลงทุนปีนี้ หวังได้ของถูกช่วงโควิดระบาดเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนโครงการปืโตรเคมีคอมเพล็กซ์สหรัฐอเมริกาเดินหน้าต่อตัดสินใจลงทุนกลางปีนี้ ขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มหนุนรายได้โต 8-10% หลังเดินเครื่อง 3 โรงงานใหม่ 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะเกิดผลกระทบกับหลายธุรกิจ และยังส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ PTTGC จะดำเนินการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของบริษัทที่จะขยายการลงทุนในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะเข้าซื้อกิจการที่ PTTGC ยังไม่มีสายการผลิต เช่น โรงงานเม็ดพลาสติก High Performance Product เพื่อให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น เป็นการขยายเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นการ M&A ภายในปี 64

“ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจึงเป็นโอกาสที่จะดำเนินการซื้อกิจการ เพราะจะมีโอกาสซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง และการซื้อกิจการยังเป็นเป้าหมายใหญ่ของการขยายการลงทุนในปีนี้ของ PTTGC เพื่อต่อยอดในการขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ PTTGC มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในการดำเนินธุรกิจ” นายคงกระพัน กล่าว 

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการลงทุนในโครงการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรวมลงทุนรายใหม่ หลังจากพันธมิตรที่จะมาร่วมลงทุนลงทุน คือ บริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (แดลิม) จากประเทศเกาหลีใต้ ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนออกไป ซึ่งปัจจุบันก็มีการเจรจาอยู่ 2-3 ราย โดยยังคงตั้งเป้าว่าจะให้ได้ข้อสรุปการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในกลางปี 64 ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการเจรจากับผู้รับเหมาควบคู่กันไปด้วยกับการหาพันธมิตร สำหรับกรณีที่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเตรียมเข้ารับตำแหน่งในเร็วๆ นี้นั้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในสหรัฐอเมริกาของ PTTGC  

อย่างไรก็ตามการลงทุนภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวนั้นการลงทุนก็ต้องระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสด และศึกษาทบทวนแผนการลงทุนให้ละเอียดครอบก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ในปี 64 นั้นมีงบลงทุนต่อเนื่องอยู่ราว 3-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รวมงบลงทุนเข้าซื้อกิจการ 

สำหรับผลประกอบการในปี 64 บริษัทฯ คาดว่ารายได้จะเติบโตในระดับ 8-10% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 8-10% เนื่องจากในช่วงปลายปี 63 และต้นปี 64 นั้นมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนในแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัทฯ และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน และโพรพิลีน 250,000 ตัน มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท , 2โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ 3 โครงการโพลีออลส์(Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามผลประกอบการจะดีขึ้นหรือลดลงนั้นปัจจัยสำคัญ คือ ราคานน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยกลุ่มบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบของปี 64 ไว้ไม่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่มีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ด้วย