RATCHเร่งขยายพอร์ตนอน อิเล็กทริซิตี้เพิ่มเป็น20%

ผู้ชมทั้งหมด 841 

RATCH วางเป้าสัดส่วน EBITDA ธุรกิจนอน อิเล็กทริซิตี้เป็น 20% ภายใน 5 ปี ลุ้นครม.เคาะตั้งบ. EGAT Innovation Holding Co.ltd. เร็วๆ นี้ ขณะปี 64 อัดงบลงทุน 1.5 หมื่นล้านลุยปิดดีล 5 โครงการ ขยายกำลังผลิตเพิ่ม 700 เมกะวัตต์มุ่งสู่เป้าหมาย 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 68 ปีนี้ COD เพิ่ม 4 โครงการ 537 เมกะวัตต์หนุนผลงานโตแกร่ง

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH บริษัทวางเป้าหมายขยายสัดส่วนกำไร ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจที่ไม่ใช่การผลิตไฟฟ้า หรือ นอน อิเล็กทริซิตี้ (Non-electricity) เพิ่มเป็น 20% ภายใน 5 ปี (2564-2568) จากปัจจุบันมีสัดส่วน EBITDA อยู่ 5% ซึ่งมาจากธุรกิจรับซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า กังหันก๊าซ และมาจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สงขลา

ทั้งนี้ธุรกิจ นอน อิเล็กทริซิตี้ นั้นจะเป็นการลงทุนในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงาน โดยใน 5 ปีข้างหน้าก็จะเพิ่มขึ้นจากที่ RATCH เข้าไปร่วมลงทุนในโครงพัฒนารถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง การลงร่วมลงทุนโครงการติดตั้งระบบบริการจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา M6 ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี M9 ระยะทาง 96 กม. ทั้ง 2 โครงการคาดว่าลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 หลังจากนนั้นจะดำเนินการติดตั้งระบบในระยะเวลา 3 ปี

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท EGAT Innovation Holding Co.ltd. โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นในสัดส่วน 40% RATCH 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO 30% นั้นในขณะนี้รอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจาก ครม.ต้นปี 2564 พร้อมลงนามในสัญญาร่วมทุน  โดยจะเป็นการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า Charging station ,นวัตกรรมด้านไฟฟ้าในระบบส่งไฟฟ้า ที่จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้าไปตรวจสอบความสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่ง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับ สมาร์ทกริด และแฟลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจนอน อิเล็กทริซิตี้ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจนอน อิเล็กทริซิตี้ ที่เพิ่มขึ้นยังจะมาจะธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงชีวิมวลอัดแท่ง (Wood pellet) ที่จะลงทุนในสปป.ลาว คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ต้นปี 2564 โดยบริษัทได้รับสัมปทานพื้นที่เพื่อปลูกพืช 4 หมื่นไร่ ซึ่งจะดำเนินการในเฟสแรกก่อน 2 หมื่นไร่ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง 8 หมื่นตันต่อปี และเริ่มจำหน่ายในปี 65 นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนปลูกไม้โตเร็วสำหรับทำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่แขวงสาละวัน สปป.ลาว โดยร่วมกับบริษัท สักสิต ที่ปรึกษาและการค้า จำกัด และรัฐบาล สปป.ลาว

ขณะที่การเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ในสัดส่วน 15.53% นั้นก็จะช่วยหนุนรายได้เติบโต โดยบริษัทเชื่อมั่นว่า BAFS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานรายใหญ่จะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากสถานะการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะเดียวกัน BAFS ก็ได้เสนอให้ RATCH เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BAFS ผู้ให้บริการท่อส่งน้ำมันสายเหนือ (บางปะอิน- ลำปาง) ส่วนธุรกิจการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF นั้นก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้สัดส่วนธุรกิจนอน อิเล็กทริซิตี้ เพิ่มขึ้น

พร้อมพกันนี้บริษัทยังได้มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจนอน อิเล็กทริซิตี้ เพิ่มขึ้นอีก โดยมีเป้าหมายการลงทุนใหม่รวมการซื้อกิจการ (M&A) ในปี 2564 นั้นบริษัทตั้งเป้าปิดดีลเพิ่ม 5 โครงการ ในจำนวนนี้จะเป็นการขยายการลงทุนในธุรกิจ นอน อิเล็กทริซิตี้ ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นมีเป้าหมาย การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 700 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ลงทุนแล้ว 8,174 เมกะวัตต์ โดยในจำนวน 700 เมกะวัตต์จะเป็นการซื้อกิจการ (M&A) ราว 350 เมกะวัตต์ ทั้งที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน ซึ่งยังคงมุ่งเป้าขยายการลงทุนในประเทศเกาหลี ใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน โดยจัดสรรงบลงทุนในปีนี้ไว้ราว 15,000 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาส 1/2564 จะปิดดีลโครงการใหม่เข้ามาอย่างน้อย 1 โครงการ ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568 โดยในจำนวนนี้เป็นกำลังผลิตพลังงานทดแทน 2,500 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัท ยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 2 โครงการ กำลังการผลิต 3- 6 เมกะวัตต์ต่อแห่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์อีกทั้งยังสนใจเข้าร่วมประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ หรือ “โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid )” ขนาด 24 เมกะวัตต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ด้วย

ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์  226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong  เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%) ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,700 เมกะวัตต์ จะมุ่งเน้นบริหารประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง ต้นทุนการผลิต และควบคุมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ