SCGP มั่นใจ รายได้ปีนี้ โตเข้าเป้า 1.5 แสนลบ.  

ผู้ชมทั้งหมด 415 

SCGP มั่นใจ รายได้จากการขายปี 2565 เข้าเป้า 150,000 ล้านบาท หลัง 9 เดือนแรก อยู่ที่ระดับ 112,559 ล้านบาท ลุ้นดีมานด์ไตรมาส 4 หนุน ขณะที่ปี 66 ตั้งงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ลุยต่อโครงการในเวียดนาม พร้อมเดินหน้าปิดดีลM&P เพิ่ม

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัท มั่นใจว่า ปี 2565 จะมีรายได้จากการขาย ที่ระดับ 150,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย หลังจากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำรายได้จากการขาย อยู่ที่ 112,559 ล้านบาท ประกอบกับช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี จะเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งจะสนับสนุนให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆเพิ่มขึ้น

ขณะที่ด้านต้นทุนพลังงาน เริ่มทรงตัวทั้งราคาถ่านหิน เยื่อกระดาษ และค่าระวางเรือ (freight) ปรับลดลง ส่งผลดีต่อบริษัท รวมถึงความต้องการสินค้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้น ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกไปจีน ก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวจากนโยบาย ZERO COVID-19

อย่างไรก็ตาม  บริษัท พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ดังนี้ 1.ด้านการเติบโตด้วย M&P ผสานความร่วมมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Synergy) ทั้งด้านการขยายฐานลูกค้า ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบรับความต้องการที่หลากหลายและครอบคลุม การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบร่วมกัน และร่วมกันพัฒนาช่องทางขยายลูกค้าไปยังภูมิภาคใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง อย่างการลงทุนใน Jordan เมื่อไตรมาสที่ 3 นี้ จากแผนการดำเนินธุรกิจ SCGP จะผสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง Jordan และ Peute เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขยายฐานการจัดหาวัตถุดิบรีไซเคิลในต่างประเทศ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบกล่องกระดาษใช้แล้วคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ช่วยเพิ่มคุณภาพกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษได้โดยตรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของ SCGP ให้กับเครือข่ายรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน Peute ในยุโรป และ Jordan ในสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานต่อไปได้ด้วย

“ดีล M&P ก็ยังมีแผนอยู่เรื่อยๆ แต่ที่ผ่านมา อาจล่าช้าจากแผนไปบ้าง รวมถึงแผนขยายธุรกิจผ่าน Vina Kraft Paper Company Limited ด้วยการลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ที่ Vinh Phuc ทางตอนเหนือของเวียดนามพร้อมกับสร้างฐานการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่มีกำลังผลิตประมาณ 370,000 ตันต่อปี ภายในคอมเพล็กซ์แห่งนี้ ที่เดิมคาดว่า จะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2567 อาจต้องเลื่อนแผนลงทุนออกไปเป็นหน้า และเลื่อนแผนเริ่มการผลิตไปเป็นปี 2568 แทนนั้น ทำให้ปีนี้ บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 16,000 ล้านบาทต่ำกว่าแผนที่วางไว้ช่วงต้นปีอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท แต่ในปีหน้า โครงการเหล่านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ และน่าจะทำให้งบลงทุนในปีหน้า อยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท

2. ด้านบริหารต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Operational excellence) พร้อมพัฒนานวัตกรรม เพิ่มโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ดำเนินการบริหารจัดการเงินสด งบประมาณการลงทุน (CAPEX) และการพิจารณาลงทุนตามกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ รอบคอบ รัดกุม รวมทั้งการเพิ่มความสามารถและศักยภาพในการจัดการภายในองค์กรที่สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมและโซลูชัน ด้วยงบประมาณวิจัยและพัฒนาร้อยละ 0.3 ของรายได้ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรในการส่งมอบนวัตกรรมและโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าและผู้บริโภค โดยล่าสุด SCGP ร่วมกับ 3 พันธมิตรผู้จัดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำของไทย เพื่อนำผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จาก Deltalab ขยายตลาดในประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพที่เติบโตสูง

3. ด้านขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus เพื่อโลกที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) มุ่งสู่ Net Zero ที่ดำเนินงานตามแผน เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (2) Go Green การเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 99.7 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (3) Lean เหลื่อมล้ำ การส่งเสริมด้านการศึกษาและอาชีพ เช่น จัดประกวดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 และ (4) ย้ำร่วมมือ SCGP ร่วมกับพันธมิตรนำกระดาษใช้แล้วมาหมุนเวียนนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังได้ร่วมกับอำเภอบ้านโป่ง จัดโครงการชุมชน Like (ไร้) ขยะ ส่งเสริมชุมชนปลอดขยะกว่า 86 ชุมชน ฯลฯ

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจอาเซียนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคภายในประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าที่จำเป็นสำหรับการบริโภค เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าอุปโภคอื่น ๆ สำหรับเทศกาลต่าง ๆ ในช่วงสิ้นปี  ซึ่งธุรกิจบรรจุภัณฑ์ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับด้านการส่งออกของอาเซียน ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าคงทนลดลง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ราคาพลังงานทั่วโลกยังทรงตัว อย่างไรก็ตาม ค่าขนส่งและต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (Recovered Paper : RCP) มีการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขาย 112,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์การควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) รวมถึงความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นภายหลังที่มีการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย และมี EBITDA เท่ากับ 15,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสำหรับงวด 5,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 37,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 มี EBITDA อยู่ที่ 5,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และกำไรสำหรับงวด 1,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุน ราคาเยื่อที่สูงขึ้นและความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ของกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจจากการควบรวมกิจการบริษัทรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ Peute Recycling B.V. (Peute) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Jordan Trading Inc. (Jordan) สหรัฐอเมริกา