SPCGลั่นปี64กำไรโต-ปันผลดีแม้รายได้ทรงตัว

ผู้ชมทั้งหมด 1,184 

SPCG ลั่นปี 64 กำไรไม่ลด-ปันผลยังดีแม้รายได้จะทรงตัว โดยจะพยายามรักษารายได้ที่ 5,000 ล้านบาท พร้อมลุยโซลาร์ฟาร์ม 500 เมกะวัตต์พ่วงระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ EEC คาดใช้งบลงทุน 19,000-23,000 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้เตรียมงบ 10,000 ลุยเฟสแรก 300 เมกะวัตต์ใน EEC และ480เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น  

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ภายรวมผลประกอบการในปี 2564 บริษัทจะพยายามรักษาระดับรายได้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 5,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) บางโครงการเริ่มทยอยสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ราคาแอดเดอร์ 8 บาทต่อหน่วย และจะสิ้นสุดสัญญาทุกโครงการในปี 2567

ขณะที่ธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ยอดคำสั่งซื้อหดตัวคาดว่าจะมียอดขายที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปกติในแต่ละปีจะมียอดขายราว 1,500 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทจึงได้เสนอทางเลือกให้ลูกค้าเป็นระบบลิสซิ่งหรือเช่าซื้อระยะยาว เพื่อช่วยกระตุ้นให้ยอดขายโซลาร์รูฟท็อปเป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามแม้รายได้ในปีนี้จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน แต่บริษัทยังมั่นใจว่ากำไรยังเติบโตดีขึ้น และยังมีเงินปันผลที่ดี โดยจะพยายามรักษาประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับสูง พร้อมกับดำเนินการลดค่าใช้จ่ายให้ได้ตามเป้าหมายราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งจะช่วยให้กำไรเติบโต

นอกจากนี้โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้จะทยอยจายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) 300 เมกะวัตต์ตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เริ่มทยอยรับรู้เป็นรายได้ทันที ซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงจากโครงการที่สิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แอดเดอร์ 8 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้โครงการโซลาร์ฟาร์มใน EEC นั้นจะ COD ครบ 500 เมกะวัตต์ในปี 69

อย่างไรก็ตามในโครงการนี้บริษัทได้จองที่ดินสำหรับติดตั้งโซลาร์ฟาร์มไว้เรียบร้อยแล้ว แต่การดำเนินการลงทุนก่อสร้างนั้นต้องรอความชัดเจนของแผนพลังงานแห่งชาติ ของกระทรวงพลังงานก่อน โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มใน  EEC 500 เมกะวัตต์นั้นต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอแผนเข้าไปบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อใช้ในเขตพื้นที่ EEC โดยจะดำเนินการควบคู่กับโครงการโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ EEC ขนาดกำลัง 500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 2 เดือนก็จะมีความชัดเจนว่าจะลงทุนในพื้นทีใด และใช้เทคโนโลยีของประเทศไหน เช่น เยอรมัน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม และระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ EEC ราว 19,000 – 23,000 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนั้นเป็นการดำเนินโครงการตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมิติใหม่ในพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่พลังงานสะอาดอัจฉริยะ Smart Energy เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ Low Carbon Society

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2564 นั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 10,000 บาทสำหรับลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม 480 เมกะวัตต์ในจ.ฟุกุซิมะ ประเทศญี่ปุ่นราว 5,000 ล้านบาท และสำหรับการลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มใน EEC ที่จะลงทุนในระยะแรก 300 เมกะวัตต์อีก 5,000 ล้านบาท ส่วนแผนการขยายการลงทุนโครงการใหม่ในต่างประเทศนั้นต้องชะลอการลงทุนออกไปก่อน 1 ปีเพื่อรอให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย