SUPER กางแผนทุ่ม 4.15 หมื่นล. ลงทุน 3ปี สร้างรายได้ 2 หมื่นล.ในปี68

ผู้ชมทั้งหมด 600 

SUPER กางแผน 3 ปี ทุ่มลงทุน 4.15 หมื่นล้านบาท ดันรายได้โต 100% แตะ 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 พร้อมส่งบริษัทลูก “ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์” เสริมแกร่งซื้อขายคาร์บอนเครดิต หนุนรายได้แตะ 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2573 จ่อลงทุนเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท หากคว้าประมูลพลังงานทดแทน อีกกว่า 300 เมกะวัตต์ คาดประกาศผลปลาย มี.ค.นี้ ลั่นสถานะการเงินแกร่งพร้อมซัพพอร์ตโครงการลงทุน แย้มกลางปีนี้ หวังรัฐออกนโยบายรับซื้อไฟเพิ่มกว่า 5,000 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว

กระแสความต้องการใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นจนทำให้ รัฐบาลไทยหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆ เพื่อเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

รวมถึง การที่ประเทศไทย เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26)  ณ กรุงกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร พร้อมร่วมยกระดับการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก จนนำไปสู่การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ของประเทศไทย

นโยบายดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเป็นโอกาสขยายการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SUPER ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเกิด “โอเวอร์ดีมานด์” ในอนาคตอันใกล้นี้ จากกระแสความต้องการใช้พลังงานสะอาดและการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่เพิ่มขึ้น

SUPER จึงเดินหน้าขยายการลงทุนรองรับการเติบโตในช่วง 3 ปีนี้(ปี2566-2568) ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 41,503 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในปี 2566 วงเงินอยู่ที่ 12,403 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว ประกอบด้วย โครงการ Soc Trang (เวียดนาม) ขนาด 30 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จแล้ว รอจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ในปีนี้ ,โครงการ Bac Lieu (เวียดนาม) ขนาด 70 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาด COD ในปีนี้ ,โครงการโซลาร์รูฟท็อป ม.มหิดล ศาลายา ขนาด 15 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดCOD ในไตรมาส 1 ปีนี้ ,โครงการ Enserv Private (จ.เพชรบุรี) ขนาด 11 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาด COD ในไตรมาส1ปีนี้ และโครงการ Private PPA อีก 50 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเตรียมการลงทุน คาดทยอยCOD ช่วงไตรมาส3-4 ปีนี้

ส่วนการลงทุนปีถัดไป(ปี 2567) จะใช้วงเงินอยู่ที่ 5,550 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการ Soc Trang (เวียดนาม) ส่วนที่เหลือ ขนาด 71 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาด CODในปี 67,โครงการโรงไฟฟ้าขยะ (เพชรบุรี) อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง CODในปี67,โครงการโรงไฟฟ้าขยะ (นครศรีธรรมราช)อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง CODในปี67 และโครงการ Private PPA อีก 50 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง

และปี2568 จะใช้วงเงินอยู่ที่ 23,550 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการ Phuyen Wind Energy (เวียดนาม) ขนาด 200 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง,โครงการ DAK Song Wind Energy (เวียดนาม) ขนาด 50 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้าง ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ยังรอความชัดเจนแผนพัฒนาพลังงานกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม (PDP8) แต่เดินหน้าก่อสร้างแน่นอน แม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าจะลดลง แต่ก็ยังได้กำไร 18% รวมถึงการเข้าลงทุนโครงการลม GGE (โคราช) ขนาด 50  เมกะวัตต์ ซึ่งหาได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว ก็จะเดินหน้าก่อสร้างทันที คาดว่าจะCODในปี 68,โครงการโรงไฟฟ้าขยะ (นนทบุรี) อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างคาด CODปี68 และโครงการ Private PPA อีก 50 เมกะวัตต์

แผนขยายการลงทุนในช่วง 3 ปีดังกล่าว(ปี2566-2568) จะส่งให้ บริษัท มีรายได้เติบโตขึ้น 100% ในปี2568 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท จากปี 2565 คาดว่ารายได้อยู่ในระดับเกือบ 10,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาทในปี2566  แล้วเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาทในปี 2567

นอกจากนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการประมูลภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ตามการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งบริษัท ได้ร่วมยื่นประมูล 3 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งเป็น โครงการ โซลาร์ฯ + แบตเตอรี่ ยื่นไป 19 โครงการ เบื้องต้นผ่านเกณฑ์คุณสมบัติฯ แล้ว 16 โครงการ กำลังผลิตรวม 333.74 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอผลยื่นอุทธรณ์อีก 3 โครงการ คาดหวังว่าในส่วนนี้ จะชนะการประมูลราว 80-90% ,โครงการลม บริษัทยื่น 5 โครงการ ยังไม่ผ่านการคัดเลือกและอยู่ระหว่างอุทธรณ์ คาดว่าจะได้กลับมาไม่น้อยกว่า 1 โครงการ และโครงการขยะอุตสาหกรรม บริษัทยื่น 3 โครงการ ไม่ผ่านเกณฑ์ฯ แต่ยื่นอุทธรณ์กลับมาได้ 30 เมกะวัตต์ คาดว่าโครงการที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์จะทราบผลภายใน 5 มี.ค.นี้ และจะรู้ผลประมูลที่ชัดเจนภายในปลายเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งหากบริษัท ชนะการประมูลตามแผนที่วางไว้ กำลังการผลิตรวมประมาณ 363.74 เมกะวัตต์ ก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกราว 20,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการทยอยลงทุนตามแผน COD ในช่วงปี 2567-2572

ทั้งนี้ แผนลงทุนดังกล่าวใช้เงินลงทุนใส่เข้าไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท เหลือเงินลงทุนอีกไม่ถึง 30,000 ล้านบาท โดยบริษัท มีสถานะการเงินแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ที่จะรองรับการใช้เงิน รวมถึงยังมีรายได้จากการทำดีลลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น 49% ของ SOLAR NT HOLDINGS PTE.LTD. (Solar NT) ให้กับ AC ENERGY VIETNAM INVESTMENTS PTE.LTD. (ACEV) มูลค่ากว่า 165 ล้านดอลลาร์

และบริษัท ยังมีแผนที่จะ Spin-Off โดยแยกส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะออกมาจากบริษัทแม่ หลังจากการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะใน 3 โครงการ คือ สระแก้ว,พิจิตร และหนองคาย รับรู้กำไรแล้ว เหลือก่อสร้างอีกที่เพชรบุรี,นครศรีฯและ นนทบุรี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ฉะนั้น เมื่อ Spin-Off แล้ว ก็มีแผนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2567 ก็จะสามารถจัดหาเงินทุนได้เอง ทำให้ SUPER มีความพร้อมด้านเงินทุนเพื่อรองรับขยายการลงทุนตามแผน 3 ปีดังกล่าว

“ฉะนั้น เป้าหมายเราชัดเจนแล้วภายใน 3ปี รายได้จะขึ้นไปแตะ 2 หมื่นล้าน จากวันนี้เกือบ 10,000 ล้านบาท และมองถึงปี 2573 มองไปถึง Net Zero ธุรกิจลงทุนโรงไฟฟ้าก็เติบโต รวมไปถึง บริษัทลูก คือ ธุรกิจของซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของ บริษัท ซุปเปอร์ คาร์บอน เอ็กซ์ จำกัด (SCX) ถ้าปี 2567 ไปแตะ 2 ล้านหน่วย ก็จะผลักดันให้รายได้ของ SUPER ไปแตะระดับ 4 หมื่นล้านบาท ในปี2573 จากโครงการที่มีอยู่ในมือและการเทรดคาร์บอน”

นายจอมทรัพย์ มองว่า จากการที่ภาครัฐ ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกมา 5,203 เมกะวัตต์ จากที่หยุดรับซื้อไปประมาณ 5 ปี และรัฐ ยังเปิดรับฟังความความคิดเห็น (ร่าง) หลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) นั้น ก็เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ หรือ ช่วงกลางปีนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นภาครัฐ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด เพราะประเทศไทย มีโรงงานอุตสาหกรรม มีฐานการผลิตและส่งออก ฉะนั้น ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องส่งออกสินค้าไปยุโรปและญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาด หรือ RE 100% ตามนโยบายของบริษัทแม่

“วันนี้ ค่าไฟ อยู่ที่ราว 5-6 บาท ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ โซลาร์ ให้ FiT อยู่ที่ 2.18 บาท ,โซลาร์ + แบต FiT อยู่ที่ 2.84 บาท และลม FiT อยู่ที่ 3.10 บาท ตามหลักการอยากให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ก็ต้องเอาของถูกเข้ามาช่วยเฉลี่ย ฉะนั้นไม่ว่า รัฐบาลไหนมา ก็ต้องส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เข้ามาช่วยเฉลี่ยต้นทุนเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าเพราะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ และวันนี้ ได้สะอาดอย่างเดียว แต่มันถูกลงด้วย”

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ของภาครัฐ คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาทในช่วง 6 ปี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ โรงงานเหล็ก โรงงานผลิตสายไฟฟ้า โรงงานปูนฯ การซื้อขาย/เช่าที่ดิน เป็นต้น ตลอดจนประเทศมีการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าสีเขียว ในราคาต้นทุนค่าไฟที่ถูกลง และยังได้ประโยชน์ในแง่ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

โดยปัจจุบัน ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯต่อเมกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 20-23 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับที่ดินและพื้นที่สายส่ง ไม่รวมกับ แบตเตอรี่ ที่ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 3-3.5 แสนดอลลาร์ฯต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือ ราว 10 ล้านบาท แพงขึ้นจากก่อนหน้านี้ ตามทิศทางความต้องการใช่รถอีวี ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เชื่อว่า ในอนาคตต้นทุนแบตเตอรี่จะถูกลงได้ จากเทคโนโลยีการผลิตและวัสดุที่เปลี่ยนไป โดยจะมีการผลิตจากเกลือ หรือ โซเดียม เข้ามามากขึ้น จากเดิมจะผลิตจากลิเทียม ซึ่งในส่วนของรถอีวี ที่ต้องการแบตเตอรี่น้ำหนักเบาก็อาจต้องใช้แบตฯจากลิเทียม แต่ในส่วนของแบตฯที่ใช้กับโรงไฟฟ้าไม่ต้องเคลื่อนที่ก็สามารถใช้แบตฯจากโซเดียมที่มีน้ำหนักมากกว่าแต่ต้นทุนถูกลงได้

ดังนั้น การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยจะมีการเติบโตได้อีกมากในอนาคต และเทรนด์นี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น และเป็นลักษณะเดียวกันทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ บริษัท จะกลับมาโฟกัสขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หลักจากรัฐให้ความสำคัญกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบัน SUPER มีโครงการที่ COD แล้ว กำลังผลิตรวมอยู่ที่ 1,618 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฯ 1,564 เมกะวัตต์,ลม 50 เมกะวัตต์ และขยะ(3 โครงการ) 24 เมกะวัตต์ รวมถึงยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก แบ่งเป็น โซลาร์ฯ 30 เมกะวัตต์ จะCODในปีนี้ ,ลม ก่อสร้างเสร็จแล้ว รอ COD อีก 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 436 เมกะวัตต์ และขยะ อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 40 เมกะวัตต์ รอทยอยCOD ใน 2-3 ปี

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2565 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565) มีรายได้รวมอยู่ที่  9,571.41 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 732.54 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย  และในประเทศเวียดนามจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ค่าความเข้มแสงเพิ่มขึ้น  โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม HBRE Chu Prong Wind Power Farm กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ที่รับรู้รายได้เต็มปี จากจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานความร้อนจากขยะ โครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจร จังหวัดหนองคาย กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2565