TBIA หวัง “รัฐ” จริงจังแบนการใช้พลาสติก 4 ประเภท ในปีหน้า

ผู้ชมทั้งหมด 1,232 

มาตรการยกเลิกใช้ “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastics)” ที่เกิดกระแสตื่นตัวให้หลายประเทศทั่วโลก ทั้ง ยุโรป สหรัฐฯ และในเอเชีย เช่น อินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย รวมถึง ล่าสุด จีน ได้ประกาศนำร่องใน 5 เมืองหลัก และในช่วง 3 ปีข้างหน้า จีนจะยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในทุกเมืองทั่วประเทศ ส่งผลให้ “พลาสติกชีวภาพ (Bioplasics)” ได้รับความสนใจมากขึ้น

ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี(พ.ศ.2561-2573) มีการกำหนดเป้าหมายยกเลิกพลาสติก 7 ชนิด โดยเป้าหมายแรกจะยกเลิกพลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่

1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap Seal) ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว จากมีข้อตกลงของทางผู้ผลิต

2. ไมโครบีด (Microbead) หรือ เม็ดพลาสติก ที่อยู่ในเครื่องสำอางช่วยขัดหน้า ในปัจจุบันไมโครบีดไม่ผ่าน อย. อยู่แล้ว และกฎหมายของต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ห้ามใช้ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอินเตอร์ไม่ใช้ไมโครบีด แต่ต้องบอกว่า แนวทางของกฎหมายยังไม่ชัดเจนว่า มีการแบนไมโครบีดจริงจัง

3. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) คือพลาสติกที่ใส่สารให้แตกตัว ปัจจุบันยังไม่ได้แบนอย่างจริงจัง เพราะคนยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่เป็นแบบไหน

ส่วนเป้าหมายในปีหน้า (ปี2565) รัฐบาลจะแบนการใช้พลาสติก 4 ประเภท คือ  1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 3.6 ไมครอน 2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้ว  3.แก้วพลาสติก และ 4.หลอดพลาสติก

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิต ที่จะรับมือกับนโยบายดังกล่าวของภาครัฐนั้น ทางสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) ได้ร่วมงานเสวนา “เมื่อผู้ใช้และผู้ผลิตต้องจับมือกัน เพื่อดูแลโลก”

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) ระบุว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในหลายประเทศได้คิดค้นนวัตกรรมไบโอพลาสติก ขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับการเลิกใช้ “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” เช่น Food service ware ที่สำหรับนำมาเป็นภาชนะบรรจุอาหาร, Personal used สำหรับของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน หน้ากากอนามัย, Coffee Capsule สำหรับแคปซูลกาแฟรีฟิล, Nonwoven สำหรับถุงเพาะชำ,ถุงกรองกาแฟ เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้ไบโอพลาสติก มองว่า ในอดีตมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ถือว่าเป็นอัตราที่สูง หากเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่มีอัตราการเติบโตราว 2-3% ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า การเติบโตของไบโอพลาสติก ในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งหากจริงจังในมาตรการเลิกใช้พลาสติกตามโรดแมปที่วางไว้ ก็จะทำให้ความต้องการใช้ไบโอพลาสติกเติบโตขึ้น ส่วนต่างประเทศ หากดูจากเทรนด์ของประเทศจีน ที่รัฐบาลประกาศมาตรการออกมาชัดเจน นำร่องใน 5 เมืองก็ทำให้ดีมานด์พลาสติกชีวภาพไม่เพียงพอกับซัพพลายแล้ว ดังนั้นจีนจะเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้ในอนาคต

“ไทย ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเป็นเบอร์ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯผลิตได้ 2-3 แสนตันต่อปี ขณะที่ไทย 2 โรงงานมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 1 แสนตัน และจะมีของเนเจอร์เวิร์คเข้ามาอีก 7.5 หมื่นตัน ฉะนั้นไม่มีคู่แข่งในอาเซียน เพราะไทยผลิตน้ำตาลเป็นเบอร์2 รองจากบราซิล และส่งออก 70% แทนที่จะส่งออกน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาท นำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท จะสร้างมูลค่าเพิ่ม 20 เท่า ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร”

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งในการผลิตพลาสติกชีวภาพไม่ใช่อาเซียน แต่เป็น จีน เพราะประกาศเพิ่มกำลังผลิตไบโอพลาสติกอย่างน้อย 2 ล้านตันในอีก 5 ปีข้างหน้า ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การที่รัฐบาลจีนประกาศใช้ “พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” ทำให้ดีมานด์ พลาสติกชีวภาพจะสูงขึ้นมากและจีนไม่สามารถที่จะรอให้ประเทศอื่นๆตั้งโรงงานขึ้นได้ บริษัทจีนจึงต้องไปร่วมทุนหรือซื้อ Know-how เพื่อตั้งโรงงานขึ้นในประเทศรองรับกับดีมานด์ที่ต้องการใช้ในอนาคต ฉะนั้น หากไทยต้องการเป็นผู้นำผลิตไบโอพลาสติกในระดับเอเชีย จะเริ่มต้นการผลักดันให้ประสบความสำเร็จต้องมาจากนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มดีมานด์การใช้ไบโอพลาสติกในประเทศ  

ส่วนแนวโน้มราคาพลาสติกชีวภาพ ยอมรับว่า ปัจจุบัน ยังมีราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 3-5 เท่า ที่ราคาน้ำมัน 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการที่ราคาจะลงมาเท่ากับพลาสติกทั่วไปได้นั้น ราคาน้ำมันดิบต้องขึ้นไปแตะระดับ 150 – 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนราคาน้ำมันตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบของพลาสติกชีวภาพแพงกว่าราคาน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบของพลาสติกทั่วไป อีกทั้งกำลังการผลิตไบโอพลาสติกชีวภาพเมื่อเปรียบเทียบกับกำลังผลิตพลาสติกทั่วไปยังไม่คุ้มค่า แต่หากเปรียบเทียบในเรื่องของต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าพลาสติกชีวภาพมีความคุ้มค่ากว่าในระยะยาว  

นางสาววรินทร อยู่วิมลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด (Bio-Eco) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวรจร กล่าวว่า เทรนด์การใช้ไบโอพลาสติก เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาบางลง และปัจจุบันนี้ พบว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจที่สนใจใช้พลาสติกชีวภาพ ได้แก่ 1.ธุรกิจโรงแรม 2.ธุรกิจคาเฟ่และร้านอาหาร 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไทย 4.ธุรกิจสถาบันการศึกษา และ5.ธุรกิจโรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกชีวภาพในภาคธุรกิจต่างๆ ก็คือกระแสตอบรับของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“ช่วงโควิด-19 ยอดขายพลาสติกชีวภาพลดลงประมาณครึ่งนึง แต่พอรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ ก็น่าจะทำให้ยอดการส่งออกเติบโตขึ้น 15% ส่วนในประเทศยอดขายปีนี้ ก็คาดหวังว่าจะกลับมาเติบโตเท่าปีก่อน”