TOPเร่งหาพันธมิตรลงทุนโอเลฟินส์เดินหน้าBeyond CFP

ผู้ชมทั้งหมด 1,272 

TOP เร่งหาพันธมิตรทั้งไทย และต่างชาติร่วมลงทุนโรงงานโอเลฟินส์เดินหน้าโครงการBeyond CFP สร้างมูลค่าเพิ่มปิโตรเคมี พร้อมลุยลงทุนธุรกิจใหม่วางเป้าเพิ่มสัดส่วนกำไร 15-20% ขณะแนวโน้มธุรกิจปี 64 เห็นแววฟื้นตัวมั่นใจเติบโตดีกว่าปี 63 หลังเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) หรือ CPF เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวันนั้นมีความคืบหน้า 60-70% ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2566 พร้อมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์

บริษัทฯ มีแผนต่อยอดเป็นโครงการ Beyond CFP เพื่อเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบ (Feed Stock) ที่เป็นผลพลอยได้จากโครงการ CFP ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 6 แสนตัน  มี Light naphtha ประมาณ 7 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมี Heavy naphtha ประมาณ 9 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ Beyond CFP นั้นบริษัทฯ มีแผนขยายการลงทุนโรงงานโอเลฟินส์

ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนโรงงานโอเลฟินส์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ รวมทั้งการร่วมลงทุนกับกลุ่ม ปตท. โดยต่างประเทศนั้นมองโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่มีศักยภาพ เพราะเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์สูง และยังเป็นการขยายฐานการตลาดในต่างประเทศอีกด้วย โดยคาดว่าจะสรุปความชัดเจนในการเลือกพันธมิตรร่วมลงทุนได้เร็วสุดภายในปีนี้

“TOP มีบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) อยู่แล้วจะมีขนาดกำลังการผลิตค่อนข้างใหญ่ ฉะนั้น หลังโครงการ CFP ก็จะทำให้มี Heavy naphtha กำลังการผลิตเพิ่ม ก็ไปขยายกำลังผลิตอะโรเมติกส์ของบริษัทได้ แต่โอเลฟินส์ ไทยออยล์ยังไม่มีซึ่งหลังโครงการ CFP จะทำให้มี feedstock เพียงพอที่จะไปต่อย่อยโอเลฟินส์ได้ โดยการต่อยอดโอเลฟินส์นั้นมองโอกาสขยายลงทุนในต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนมากกว่าการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็คุยอยู่หลายประเทศ โดยช่วงโควิด-19 นั้นมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน”นายวิรัตน์ กล่าว

ส่วนการลงทุนธุรกิจขั้นปลาย (downstream) ของโอเลฟินส์ ยังต้องประเมินการตอบรับของตลาดเป็นหลักว่ามีความต้องการระดับใด ซึ่งในประเทศไทยหากตลาดยังมีขนาดเล็กอาจไม่คุ้มค่า ก็อาจจะต้องมองหาการลงทุนในต่างประเทศแทน ซึ่งในส่วนนี้ บริษัทก็สนใจกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตามการขยายการลงทุนนั้นบริษัทมีศักยภาพเพียงพอ โดยปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity ratio : D/E) อยู่ในระดับ 1 เท่า ยังมีศักยภาพในการกู้เงินอยู่ ขณะที่ปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการลงทุนในโครงการ CFP

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนขยายลงทุนในธุรกิจใหม่นั้นมีเป้าหมายขยายการลงทุน 3 ด้านคือ 1. Manufacturing Technology 2. Better-Living Technology 3. Mobility and New Energy ปัจจุบันได้เข้าไปลงทุนแล้ว 2 กองทุนในสหรัฐฯ และอิสราเอล รวมถึงได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่มีการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ สำหรับใช้ในรถยนต์และโรงงาน เป็นต้น และในปีนี้ก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพเพิ่มเติม โดยในช่วง 5-6 ปีนั้นบริษัทฯ ได้จัดสรรงบลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพไว้ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเป้าหมายสัดส่วนกำไรจากธุรกิจใหม่ 5% ในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2573)

ขณะธุรกิจไฟฟ้าบริษัทฯ มีเป้าหมายสัดส่วนกำไรเพิ่มเป็น 15-20% โดยจะเป็นการเติบโตตามการขยายการลงทุนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC  ที่ไทยออยล์ ถือหุ้นอยู่ 20% ซึ่ง GPSC มีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ทั้งนี้ในปัจจุบัน TOP มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ราว 1,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามการขยายลงทุนในธุรกิจไฟฟ้านั้นยังมีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ส่วนธุรกิจโรงกลั่นในปี 2573 จะมีสัดส่วนเป็น 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40%

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปี 2563 หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 แล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันโรงกลั่นไทยออยล์ เดินเครื่องการกลั่น 99% ดังนั้น คาดว่า ปีนี้ ค่าการกลั่น (GRM) จะดีขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่บวกลบ ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่า  ค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) จะดีขึ้น จากปีก่อน อยู่ที่ 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1/2564 ยอมรับว่าค่าการกลั่นยังยังไม่ค่อยดีนัก แต่ดีมานด์เริ่มกับมาฟื้นตัว ราคาผลิตภัณฑ์เริ่มปรับขึ้น และคาดว่าจะมีกำไรจากการสต๊อกน้ำมันหลังจากราคามันปรับตัวเพิ่มขึ้น เฉลี่ยในระดับ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปีนี้คาดการณ์อยู่ที่ 45-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล