“WHAUP” ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้า Captive Energy เจาะตลาดลูกค้านิคมฯ

ผู้ชมทั้งหมด 813 

ดับบลิวเอชเอยูพี” ศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้า Captive Energy เจาะตลาดลูกค้านิคมฯที่ไม่ได้ซื้อไฟฟ้าจาก PEA และ SPP คาดเบื้องต้น มีดีมานด์ 100 เมกะวัตต์ ในนิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) – ESIE

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแบบ Captive Energy ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบสายส่งหลัก เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ที่ซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)เป็นหลัก แต่ยังไม่มีโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก( SPP) เข้ามาจำหน่ายไฟฟ้าให้

ดังนั้น บริษัทจึงสนใจที่จะพัฒนา Captive Cogeneration เพื่อขายไฟฟ้าให้กับลูกค้านิคมอุตสาหกรรม (IU) ประกอบกับในพื้นที่นิคมฯ ก็มีระบบก๊าซฯซัพพลายอยู่แล้ว โดยที่บริษัทเองก็ไม่จำเป็นต้องยื่นขอเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าก๊าซฯ(Shipper) แต่อย่างใด

“ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาดูดีมานด์ลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าที่จะเข้ามาในอนาคตว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำอย่างไร เพราะโรงไฟฟ้า Captive ต้องมีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าและไอน้ำต่อเนื่อง และนิคมฯของเราก็มี SPP รองรับอยู่แล้วก็ต้องรอดูนิคมใหม่ๆและรอดูดีมานด์ลูกค้าที่จะสอดรับกับสเปคของ Captive Cogeneration ด้วย”

ทั้งนี้ จากการศึกษาศักยภาพในเบื้องต้น พบว่า ลูกค้าที่จะเป็นดีมานด์สำหรับโรงไฟฟ้า Captive Cogeneration จะอยู่ที่ประมาณ 100 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) – ESIE ของดับบลิวเอชเอ ส่วนนิคมฯอื่นๆ ก็มีการศึกษาแยกกันไปคนละโครงการแต่ยังไม่มีตัวเลขศักยภาพความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ชัดเจน แต่ก็มีการศึกษาควบคู่กันไปในนิคมฯหลายแห่งของดับบลิวเอชเอ

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า บริษัท มองว่า หากจะลงทุนในเฟสแรก คงต้องผลักดันเรื่องของ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้ากันเอง ( Peer to Peer หรือ P2P )​ที่ซื้อขายไฟฟ้าผ่าน Smart Energy Platform ให้เกิดขึ้นก่อน จากนั้นเมื่อมีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็จะพัฒนาสู่ Captive Cogeneration ต่อไปได้